บทความวิชาการ
หน้าแรก   /   บทความวิชาการ  /   ฟัตวา (รวมฟัตวาเฉพาะรอมฎอน) ควรค่าแก่การศึกษายิ่ง

ฟัตวา (รวมฟัตวาเฉพาะรอมฎอน) ควรค่าแก่การศึกษายิ่ง

ฟัตวา คือ คำชี้ขาดประเด็นปัญหาศาสนา ซึ่งทำการตอบโดยอุละมาอ์ ผู้รู้ ที่มีความรู้ทางศาสนาเป็นอย่างดี โดยผู้ที่ทำการฟัตวานั้น เราจะเรียกว่า "มุฟตี" 
ตัวอย่าง
- เชคอับดุลอะซีซ บิน บาซ ได้ทำการฟัตวา ว่าการสูบบุหรี่นั้น ถือว่า "หะรอม"
นั่นคือ เชคอับดุลอะซีซ ได้ชี้ขาดว่า การสูบบุหรี่นั้นหะรอม (ส่วนนี้ คือคำฟัตวา) ส่วนเชค บิน บาซ นั้น เรียกว่า (มุฟตี) นั่นเอง
วัลลอฮุอะอฺลัม แปลว่า "อัลลอฮฺเท่านั้น ที่ทรงรู้ดียิ่ง" มักใช้กล่าวลงท้าย การตอบปัญหาศาสนา โดยเฉพาะในประเด็นที่ไม่แน่ใจ หรือไม่ชัดเจนในหุก่ม เมื่อตอบไปแล้ว ก็จะลงท้ายด้วยคำว่า "วัลลอฮุอะอลัม" หรือ "วัลลอฮุอะลัม บิศเศาะวาบ" (อัลลอฮฺเท่านั้น ที่ทรงรู้ดี ถึงคำตอบ ที่ถูกต้อง) ถือเป็นมารยาทอย่างหนึ่ง ที่ผู้ที่ทำการตอบปัญหา หรือพูดคุยกันในเรื่องประเด็นปัญหาศาสนา พึงปฏิบัติ 

(1) - จะทราบได้อย่างไร ว่าเริ่มเข้าสู่เดือนรอมฎอน? 
ถาม : เราจะทราบได้อย่างไร ว่าเข้าสู่เดือนรอมฎอน? 
ตอบ : ด้วย 2 วิธี คือ
1- มองเห็นเดือน ดังที่อัลลอฮฺตะอาลา ทรงตรัสไว้ ความว่า “ดังนั้น ผู้ใดในหมู่พวกเจ้า เข้าอยู่ในเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้น” อัลบะเกาะเราะฮฺ : 185
ดังนั้น เมื่อมีการยืนยันจากผู้ที่เชื่อถือได้ ก็จำเป็นต้องปฏิบัติตาม
2- เดือนชะอฺบานครบ 30 วัน
(ฟัตวาเชค ศอลิหฺ อัลมุนัจญิด)

(2) - นอนเยอะในช่วงกลางวันของเดือนรอมฎอน 
ถาม : ในเดือนรอมฎอนนั้น หากว่าหลังจากที่เราทานอาหารสุหูรฺ และละหมาดฟัจญรฺเสร็จ เรานอนยาวถึงเวลาละหมาดซุฮรฺ เมื่อละหมาดซุฮรฺเสร็จ ก็นอนต่อจนถึงอัศรฺ ก็ตื่นละหมาด แล้วนอนต่อถึงมักริบ กระทำเช่นนี้ การถือศีลอดของเรา ถือว่าใช้ได้ไหม? 
ตอบ : การถือศีลอดในกรณีนี้ ถือว่าใช้ได้ แต่การที่คนเรานอน ตลอดทั้งวันนั้น ถือเป็นความบกพร่องประการหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเดือนรอมฎอนอันประเสริฐ ซึ่งเป็นการสมควรอย่างยิ่ง ที่มุสลิมจะกระทำสิ่ง ที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง ให้มากๆ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านอัลกุรอาน หรือ การศึกษาหาความรู้ เป็นต้น 
(ฟัตวาคณะกรรมการถาวร เพื่อการวิจัยทางวิชาการ และชี้ขาดปัญหาศาสนา ซาอุฯ เล่ม 1 หน้า 129)

(3) - การทานอาหารสุหูรฺ เป็นผลดีต่อการถือศีลอด 
ถาม : คนที่ไม่ทานสุหูรฺนั้น การถือศีลอดของเขา ถือว่า ใช้ได้ไหม? 
ตอบ : การถือศีลอดของเขา ถือว่าใช้ได้ เพราะการทานสุหูรฺนั้น ไม่ใช่เงื่อนไขในการทำให้การถือศีลอดนั้น ใช้ได้ แต่เป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้กระทำ (มุสตะหับ) เนื่องจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวความว่า “ พวกท่านจงทานสุหูรฺเถิด แท้จริงแล้วการทานสุหูรฺนั้น นำมาซึ่งบะเราะกะฮฺ (ความจำเริญ) ” บันทึกโดย บุคอรี และมุสลิม
(ฟัตวาเชคอับดุลอะซีซ บิน บาซ จากหนังสือรวมฟัตวาของท่าน)

(4) - กลืนน้ำลายขณะถือศีลอด 
ถาม : อยากทราบหุก่มการกลืนน้ำลาย ในขณะถือศีลอด 
ตอบ : เป็นสิ่งที่กระทำได้ ฉันไม่พบว่า มีอุละมาอฺท่านใด เห็นต่างไปจากนี้ เนื่องจากเป็นการยาก ที่จะหลีกเลี่ยงการกลืนน้ำลาย ส่วนเสมหะ และเสลดนั้น หากออกมาถึงช่องปากแล้ว จำเป็นต้องคายออกมา และไม่อนุญาตให้กลืนเข้าไป เนื่องจากเป็นสิ่งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ต่างจากน้ำลาย วะบิลลาฮิตเตาฟีก 
(ฟัตวาเชค บินบาซ ในหนังสือรวมฟัตวาของท่าน เล่ม 3 หน้า 251)

(5) - การใช้ไม้สิวากขณะถือศีลอด 
ถาม : มีบางคน พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ไม้สิวาก ขณะถือศีลอด เนื่องจากเกรงว่า จะทำให้เสียการถือศีลอด ไม่ทราบว่าเช่นนี้ ถูกต้องหรือไม่? และเวลาใดที่เหมาะ สำหรับการใช้สิวาก ในเดือนรอมฎอน? 
ตอบ : การหลีกเลี่ยงการใช้สิวาก ในขณะถือศีลอดนั้น เป็นการกระทำที่ไม่มีหลักฐาน เนื่องจากการใช้สิวากนั้น ถือเป็นสุนนะฮฺ ดังที่ปรากฎในหะดีษเศาะหีหฺ   ความว่า “การใช้สิวากนั้น เป็นการทำให้เกิดความสะอาดในช่องปาก และทำให้เกิดความพอพระทัย ณ พระผู้เป็นเจ้า” ซึ่ง ส่งเสริมให้กระทำทุกเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อทำการอาบน้ำละหมาด เมื่อจะทำการละหมาด ตื่นจากนอน หรือเข้าบ้าน เป็นต้น ไม่ว่าจะขณะถือศีลอด หรือไม่ ก็ตาม และไม่เป็นการทำให้การถือศีลอด เสียแต่อย่างใด นอกเสียจากว่า ไม้สิวากนั้นจะมีรสชาติ และทิ้งร่องรอยในน้ำลาย หรือใช้แล้ว เกิดมีเลือดไหล ออกจากเหงือก หรือไรฟัน เช่นนี้แล้ว ก็ไม่อนุญาตให้กลืนกินสิ่งเหล่านั้น
(ฟัตวาเชค อิบนฺ อุษัยมีน ในฟิกฮุลอิบาดาต)

(6) - การกินหรือดื่มโดยไม่ได้ตั้งใจ 
ถาม : อะไรคือหุก่ม ของการกินหรือดื่ม ขณะถือศีลอด ด้วยความลืมตัว? 
ตอบ : ผู้ ที่กินหรือดื่ม ขณะถือศีลอด โดยที่เขาไม่ได้เจตนานั้น การถือศีลอดของเขา ถือว่าใช้ได้ แต่ทันทีที่เขานึกขึ้นได้ จำเป็นต้องคายออกมาทันที แม้ว่าจะเป็นเพียงอาหารแค่คำเดียว ซึ่งหลักฐานที่ระบุว่า การถือศีลอดของเขาถือว่าใช้ได้นั้น ได้แก่หะดีษ ซึ่งรายงานโดยท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวความ ว่า : “ผู้ใดเผลอกินหรือดื่ม ในขณะถือศีลอด ก็ให้เขาถือศีลอดต่อไป แท้จริงแล้วอัลลอฮฺ ได้ทรงประทานอาหารและเครื่องดื่ม แก่เขา” บันทึกโดย บุคอรี และมุสลิม
(ฟัตวาเชค อิบนฺ อุษัยมีน ในฟิกฮุลอิบาดาต)

(7) - การใช้ยาห้ามประจำเดือน ในเดือนรอมฎอน 
ถาม : อนุญาตให้ใช้ยาห้ามประจำเดือน เพื่อให้สามารถถือศีลอด ได้ทั้งเดือน หรือไม่? 
ตอบ : สามารถกระทำได้ เนื่องจากเป็นการดี ที่มุสลิมะฮฺจะได้ถือศีลอด พร้อมๆ กับคนอื่น และไม่ต้องถือ ศีลอดชดภายหลัง ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่มีผลข้างเคียง ต่อตัวเธอ เนื่องจากสตรีบางคน เมื่อใช้ยาชนิดนี้แล้ว จะทำให้เกิดอาการแพ้ 
(ฟัตวาเชคบินบาซ ในหนังสือรวมฟัตวาของท่าน เล่ม 15 หน้า 201)

(8 ) - การชิมอาหารขณะถือศีลอด
ถาม : การชิมรสชาติอาหาร ขณะถือศีลอด ทำให้การถือศีลอดเสีย หรือไม่? 
ตอบ : อนุญาต ให้ใช้ลิ้นทำการชิมรสชาติอาหาร ขณะถือศีลอดได้ แต่ชิมเสร็จแล้ว ต้องคายออกมา และไม่กลืนกินอาหารนั้น เข้าไป หากผู้ใดเจตนากลืนอาหารเข้าไป ถือว่าการถือศีลอดของเขานั้นเสีย ทั้งนี้ ปากนั้น ถือเป็นอวัยวะภายนอก การชิมอาหาร จึงไม่ทำให้การถือศีลอดเสีย เปรียบได้กับการบ้วนปาก ในการอาบน้ำละหมาด 
(ฟัตวาเชคศอลิหฺ อัลเฟาซาน จาก www.islamway.com)

(9) – การอาเจียน 
ถาม : การอาเจียน ทำให้เสียการถือศีลอด หรือไม่? 
ตอบ : หากว่าเจตนาทำให้อาเจียน ก็ถือว่าเสีย แต่ถ้าหากอาเจียนออกมาเอง โดยไม่เจตนา เช่นนี้ก็ไม่เสีย ซึ่งหลักฐานที่ระบุถึงประเด็นนี้ ได้แก่หะดีษอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวความ ว่า "ผู้ใดที่อาเจียนออกมา โดยไม่ได้เจตนานั้น ไม่มีการชดสำหรับเขา และผู้ใดที่เจตนาทำให้อาเจียน เขาก็จงชดเสีย" บันทึกโดย อบู ดาวุด และตัรมิซียฺ 
หากรู้สึกเหมือนจะมีอะไรออกมา จำเป็นต้องพยายามกลั้นไว้ หรือ พยายามทำให้ออก? คำตอบคือ อย่าพยายามทำให้อาเจียนออกมา และอย่าพยายามกลั้น เพราะถ้าเจตนาให้อาเจียนออกมา การถือศีลอดก็เสีย และถ้าหากพยายามกลั้น ก็อาจจะเกิดโทษได้ เพราะฉะนั้น ให้ทำตัวตามสบาย หากอาเจียนออกมา โดยไม่ได้เจตนา ก็ไม่ทำให้การถือศีลอดเสีย แต่อย่างใด
(ฟัตวาเชคอิบนุ อุษัยมีน)

(10) - ตัดผม ตัดเล็บ ขณะถือศีลอด 
ถาม : อยากทราบว่า การตัดผม หรือตัดเล็บ ขณะถือศีลอด ทำให้การถือศีลอดเสีย หรือไม่? 
ตอบ : การตัดผม ตัดเล็บ โกนขนรักแร้ หรือขนในที่ลับ ไม่ทำให้การถือศีลอดเสีย แต่อย่างใด 
(ฟัตวาคณะกรรมการถาวร เพื่อการวิจัยและชี้ขาดปัญหาศาสนา ซาอุฯ)

(11) - บ้วนปากหลังจากทานสุหูรฺ 
ถาม : จำเป็นหรือไม่ ที่ต้องบ้วนปาก หลังการทานสุหูรฺ? ถ้าหากทานแล้ว ไม่ได้บ้วนปาก จนถึงเช้า จะทำให้การถือศีลอดเสีย หรือไม่? 
ตอบ : การบ้วนปากหลังทานสุหูรฺ ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องกระทำ แต่อย่างใด เพียงแต่ส่งเสริมให้บ้วนปาก เพื่อรักษาความสะอาด ในช่องปาก 
(ฟัตวาเชคอับดุรฺเราะหฺมาน อัลอัจญฺลาน)

(12) - หุก่มการอาบน้ำขณะถือศีลอด 
ถาม : ขณะถือศีลอด หากเรารู้สึกเหนื่อย หรือร้อน สามารถอาบน้ำ หรือใช้น้ำราดศีรษะ หรือตัว ได้หรือไม่? 
ตอบ : สามารถกระทำได้ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เคยใช้น้ำราดศีรษะ เนื่องจากอากาศร้อน หรือกระหาย ขณะที่ท่านศีลอด ท่านอิบนุ อุมัรฺ ก็เคยทำให้ผ้าของท่าน เปียกชุ่ม ขณะถือศีลอด เพื่อลดความร้อน หรือความกระหาย การที่เสื้อ หรือตัวเปียกน้ำ ไม่มีผลต่อการถือศีลอด เนื่องจากน้ำ ไม่ได้เข้าไปในร่างกาย 
(ฟัตวาเชคอิบนุ อุษัยมีน)

(13) - เลือดออกตามไรฟัน 
ถาม : มีเลือดออกตามไรฟัน หรือเหงือก ทำให้การถือศีลอดเสีย หรือไม่? 
ตอบ : เลือดที่ออกตามไรฟัน ไม่ทำให้การถือศีลอดเสีย แต่อย่างใด แต่จำเป็นต้องระวัง เท่าที่ทำได้ ที่จะไม่กลืนเข้าไป เลือดกำเดา ก็เช่นเดียวกัน 
(ฟัตวาเชคอิบนุ อุษัยมีน)

(14) - กลืนเศษอาหารที่ติดอยู่ตามซอกฟัน 
ถาม : หากมีเศษอาหาร ติดอยู่ตามซอกฟัน แล้วเรากลืนเข้าไป เช่นนี้ ถือว่าทำให้การถือศีลอดเสีย หรือไม่? 
ตอบ : ในกรณีนี้ จำเป็นต้องคายเศษอาหารเหล่านั้น ออกมา และถ้าหากเขาเจตนากลืนมันเข้าไป เช่นนี้ ทำให้การถือศีลอดของเขาเสีย แต่ถ้ากลืนกินเข้าไป ด้วยความไม่รู้ หรือลืมตัว ก็ไม่เป็นไร อนึ่ง จำเป็นที่มุสลิม ต้องรักษาความสะอาด ในช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นช่วงการถือศีลอด หรือไม ่ก็ตาม 
(ฟัตวาเชคศอลิหฺ อัลเฟาซาน)

(15) - ใช้น้ำหอมขณะถือศีลอด 
ถาม : อยากทราบหุก่มการฉีดน้ำหอม ขณะถือศีลอด 
ตอบ : ไม่เป็นไร เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ 

(ฟัตวาเชคอิบนุ อุษัยมีน)

(16) – การเจาะเลือด 
ถาม : การเจาะเลือด ขณะถือศีลอด เพื่อนำไปตรวจ มีผลทำให้การถือศีลอดเสีย หรือไม่? 
ตอบ 1 : อัลหัมดุลิลลาฮฺ หากว่าเลือดที่เจาะไปนั้น โดยทั่วไปแล้ว ถือว่าเป็นปริมาณเพียงเล็กน้อย ก็ไม่ทำให้การถือศีลอดเสีย แต่ถ้าหากว่า เป็นการเจาะเลือด ในปริมาณมาก ก็ควรถือศีลอดชด สำหรับวันนั้น เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยง ข้อขัดแย้งระหว่างอุละมาอฺ และเป็นการเผื่อ
(ฟัตวาคณะกรรมการถาวร เพื่อวิจัยทางวิชาการและฟัตวา ซาอุฯ เล่ม 10 หน้า 263)
ตอบ 2 : การตรวจเลือดเช่นนี้ ไม่ทำให้การถือศีลอดเสีย แต่เป็นสิ่งที่อนุโลม ให้กระทำ เพราะความจำเป็น ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เสียการถือศีลอด ตามบทบัญญัติศาสนาแต่อย่างใด
(ฟัตวาเชคบินบาซ ในฟะตาวา อิสลามิยะฮฺ เล่ม 2 หน้า 133)

(17) – การถือศีลอดในวันที่สงสัยว่า เป็นวันที่ 1 รอมฎอน หรือไม่? 
ถาม : อยากทราบหุก่มการถือศีลอด ในวันที่ยังไม่รู้แน่ชัด ว่า เป็นวันที่ 1 รอมฎอน หรือ 30 ชะอฺบาน? 
ตอบ : ผู้ที่ถือศีลอด ในวันที่สงสัย ว่า เป็นวันที่ 1 รอมฎอน หรือ 30 ชะอฺบาน โดยที่ไม่ได้ทราบ ว่า มีการเห็นเดือน อย่างถูกต้อง ตามหลักการ แล้วปรากฎว่า วันนั้นเป็นวันที่ 1 รอมฎอน พอดี เช่นนี้ การถือศีลอดของเขาในวันนี้ ถือว่าใช้ไม่ได้ เนื่องจากเขาไม่ได้ยึดหลักศาสนา ในการเริ่มถือศีลอด (นั่นคือการมองเห็นเดือน) อีกทั้งยังเป็นวันที่กังขา (เยามุชชัก) ซึ่งมีหลักฐาน ที่ถูกต้อง ระบุชัดเจน ว่า ไม่อนุญาตให้ถือศีลอดในวันนี้ [ เช่น รายงานจากท่านอัมมารฺ บิน ยาสิรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า “ ผู้ใดถือศีลอด ในวันซึ่งเป็นที่กังขา (เยามุชชัก) แท้จริงเขาได้ฝ่าฝืนคำสั่งของอบุล กอสิม (ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)” บันทึกโดยนักบันทึกทั้ง 4 ท่านอิบนุคุซัยมะฮฺ กล่าวว่าเศาะหีหฺ
และ จำเป็นที่เขาต้องถือศีลอดชด สำหรับวันนี้ ซึ่งทัศนะนี้ เป็นของอุละมาอฺส่วนใหญ่ เช่น ท่านอบูหะนีฟะฮฺ ท่านมาลิก ท่านชาฟิอียฺ และบรรดาสานุศิษย์ ของท่านเหล่านั้น วะบิลลาฮิตเตาฟีก วะศ็อลลัลลอฮุ อะลานะบิยินามุหัมมัด วะอาลิฮี วะเศาะหฺบิฮี วะสัลลัม 
(ฟัตวาคณะกรรมการถาวรเพื่อวิจัยทางวิชาการและฟัตวา ซาอุฯ เล่ม 10 หน้า 117-118)

(18) - ประโยชน์ทางด้านสังคม ของการถือศีลอด? 
ถาม : การถือศีลอดมีประโยชน์ ทางด้านสังคม หรือไม่? 
ตอบ : การ ถือศีลอดมีประโยชน์ ทางด้านสังคม หลายประการด้วยกัน เช่น ทำให้มุสลิมมีความรู้สึกว่า ทั้งหมดเป็นประชาชาติเดียวกัน ทุกคนต่างถือศีลอด ในช่วงเวลาเดียวกัน คนรวยจะสำนึก ในเนียะมัตของอัลลอฮฺ รับรู้ถึงความรู้สึกของคนจน และสงสารพวกเขา และในเดือนรอมฎอน ความชั่วร้ายในหนทางของชัยฏอน ลดน้อยลง ความตักวายำเกรง เพิ่มมากขึ้น เมื่อมีความตักวา สังคมก็จะสงบสุข 
(ฟัตวาเชคอิบนุ อุษัยมีน ในหนังสือรวมฟัตวาของท่าน)

(19) – ในเดือนรอมฎอน ชัยฏอนถูกล่าม แต่ทำไมเรายังเห็นคนทำบาป? 
ถาม : เราต่างทราบกันดีว่า ในเดือนรอมฎอนนั้น ชัยฏอนจะถูกล่าม แต่ทำไมเราจึงยังเห็น ผู้คนกระทำบาปกันอีก? 
ตอบ : การกระทำบาป และมะศียัต ที่เราเห็นในเดือนรอมฎอนนั้น ไม่ได้ขัดแย้งกับตัวบทที่ ว่าชัยฏอนถูกมัด หรือล่ามแต่อย่างใด เนื่องจากการที่พวกมันถูกล่ามนั้น ไม่ได้บ่งบอกว่า มันจะไม่สามารถขยับเขยื้อน ตัวเลยเสียทีเดียว ดังนั้น จึงมีหะดีษบทหนึ่ง ระบุความว่า : “ในเดือนนี้ (รอมฎอน) ชัยฏอนจะถูกล่ามไว้ ดังนั้น พวกมันจึงไม่สามารถที่จะทำอะไร ได้เหมือนกับที่เคยทำ ในเดือนอื่นๆ” นั่นคือ ไม่ใช่ว่าพวกมัน จะขยับเขยื้อนทำอะไรไม่ได้เลยเสียทีเดียว มันยังคงเคลื่อนไหว และยังหลอกล่อผู้คน ให้หลงผิด เพียงแต่กำลังของมัน ในเดือนรอมฎอน จะไม่อยู่ในระดับเดียว กับในเดือนอื่นๆ และปรากฎในบางรายงาน ซึ่งบันทึกโดยอันนะสาอียฺ ความว่า : “บรรดาชัยฏอน ที่มีความชั่วร้าย ระดับต้นๆ จะถูกล่ามตรวนไว้" ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งเร้นลับ ที่จำเป็นต้องศรัทธา โดยไม่ต้องซักไซร้ให้มากความ เช่นนี้จะเป็นการดี และปลอดภัยที่สุดสำหรับเรา
(ฟัตวาเชคอิบนุ อุษัยมีน ในหนังสือรวมเล่มฟัตวาของท่าน)

(20) - ถือศีลอดเพื่อลดความอ้วน 
ถาม : อยากทราบหุก่มของคนที่ถือศีลอด เพื่อรักษาโรค หรือลดน้ำหนัก? 
ตอบ : หากว่าเขาเนียต (ตั้งเจตนา) เพียงแค่นั้น แน่นอนว่า การถือศีลอดของเขา จะไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย ในอาคิเราะฮฺ อัลลอฮตะอาลาทรงตรัสไว้ ความว่า : “ผู้ใดปรารถนาชีวิตชั่วคราว (ในโลกนี้) เราก็จะเร่งให้เขาได้รับมัน ตามที่เราประสงค์ แก่ผู้ที่เราปราถนา แล้วเราได้เตรียมนรกไว้ สำหรับเขา เขาจะเข้าไปอย่างถูกเหยียดหยาม ถูกขับไส และผู้ใดปรารถนาปรโลก และขวนขวายเพื่อมัน อย่างจริงจัง โดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธา ชนเหล่านั้น การขวนขวายของพวกเขา จะได้รับการชมเชย” (อัลอิสรออฺ : 18-19)
(ฟัตวาอุละมาอฺ รวบรวมโดย เชคศอลิหฺ อัลมุนัจญิด)

(21) - คนป่วย 
ถาม : ชายคนหนึ่งเป็นโรคกระเพาะอักเสบ หมอห้ามให้เขาถือศีลอด เป็นเวลา 5 ปี ไม่ทราบว่าเช่นนี้ เขาต้องทำอย่างไร? 
ตอบ : หากว่าหมอที่ห้ามเขาถือศีลอดนั้น เป็นผู้ที่เชื่อถือได้ มีความรู้ และมีอมานะฮฺ ้ ด้วยการไม่ถือศีลอด จนกระทั่งเขาสามารถ ที่จะถือศีลอดได้อีกครั้ง ดังที่อัลลอฮฺตะอาลาทรงตรัสไว้ ความว่า : "แล้วผู้ใดในหมู่พวกเจ้า ป่วย หรืออยู่ในการเดินทาง ก็ให้ถือใช้ในวันอื่น" (อัลบะเกาะเราะฮฺ : 184)
และเมื่อเขาหายแล้ว ก็จำเป็นที่เขาต้องถือศีลอดชด สำหรับเดือนรอมฎอน ที่เขาไม่ได้ถือศีลอด 

(22) - ผู้ป่วยที่ไม่สามารถถือศีลอดได้อีกเลย 
ถาม : อยากทราบหุก่ม ของผู้ที่ไม่สามารถถือศีลอด ได้อีกเลย เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรัง ที่ไม่มีความหวังจะหาย หรือเนื่องจากความชรา? 
ตอบ : จำเป็นที่เขาต้องให้อาหารแก่คนจน ครึ่งศออฺ (ราวๆ ครึ่งกิโลกรัม) 1 คน ต่อ 1 วัน ซึ่งอาหารนั้น ต้องเป็นอาหารหลักที่คนทั่วไป ณ ที่นั้นทานกัน เช่น ข้าว เป็นต้น โดยให้จ่ายต้นเดือน ดังที่ท่านอนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เคยทำ หรือจะเป็นกลางๆ เดือน หรือปลายเดือนก็ได้
(ฟัตวาอุละมาอฺ รวบรวมโดย เชค ศอลิหฺ อัลมุนัจญิด)

(23) - การเนียตในคืนก่อนการเดินทาง 
ถาม : ชายคนหนึ่ง ประสงค์จะเดินทาง ในวันรุ่งขึ้น ไม่ทราบว่าในคืนนั้น เขาจะเนียตว่าพรุ่งนี้ จะไม่ถือศีลอด (เพราะจะเดินทาง) ได้หรือไม่? 
ตอบ : ไม่อนุญาตให้กระทำเช่นนั้น จำเป็นที่เขาต้องเนียตถือศีลอด เพราะเขาไม่อาจรู้ได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับเขา อาจจะมีเหตุทำให้เดินทางไม่ได้ ก็เป็นได้ เมื่อเขาเดินทางแล้ว จึงค่อยละศีลอด หากเขาประสงค์ หรือหากจะยังคงถือศีลอด ก็ไม่เป็นไร 
(ฟัตวาอุละมาอฺ รวบรวมโดย เชค ศอลิหฺ อัลมุนัจญิด)

(24) - คอตัมอัลกุรอาน ในเดือนรอมฎอน 
ถาม : อยากทราบว่า จำเป็นไหม ที่เราต้องอ่านอัลกุรอานให้จบ ในเดือนรอมฎอน? 
ตอบ : ถือเป็นเรื่องดี ที่เราจะอ่านอัลกุรอานให้มากๆในเดือนรอมฎอน หากอ่านให้จบได้ก็ยิ่งดี แต่ไม่ได้เป็นสิ่งที่วาญิบ (จำเป็น) ต้องกระทำ แต่อย่างใด นั่นคือ หากอ่านไม่จบ ก็ไม่ถือว่าเป็นบาป แต่อย่างใด แต่ก็จะเป็นการพลาดผลบุญ อันใหญ่หลวง มีบันทึกในเศาะหีหฺบุคอรี (4614) จากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ความว่า : ญิบรีลได้ทวนอัลกุรอานให้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ปีละครั้ง ส่วนในปีที่ท่านเสีย ญิบรีลทวนอัลกุรอานให้ท่านสองครั้ง
อิบนุลอะษีรฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า : “นั่นคือ ญิบรีลได้ช่วยท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทวนอัลกุรอานทั้งหมด ที่ถูกประทานลงมา” (เฆาะรีบุลหะดีษ 4/64)

ซึ่งการคอตัมอัลกุรอาน ในเดือนรอมฎอน ก็ได้เป็นแนวทางปฏิบัติ ของบรรดาชนยุคแรก เรื่อยมา ตามแบบฉบับ ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ดังมีบันทึกว่า ท่านเหล่านั้น อ่านอัลกุรอานจบ มากกว่าหนึ่งครั้ง ในเดือนนี้ บางท่านอาจจะอ่านจบวันละครั้ง หรือมากกว่านั้น ด้วยซ้ำ

ท่านนะวะวีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวถึงประเด็นการคอตัมอัลกุรอาน ว่า ควรจะมากน้อยเพียงใด ว่า : “ที่ถูกต้อง คือ ประเด็นดังกล่าว เป็นเรื่องที่แล้วแต่กรณี ของแต่ละคน บางคนต้องใช้เวลา และความละเอียดมาก ในการที่จะพินิจพิเคราะห์ ถึงความหมายที่ลึกซึ้ง สำหรับเขา ก็ควรอ่านเฉพาะเท่าที่จะทำให้เขาเข้าใจได้ อย่างลึกซึ้งที่สุด หรือบางคน อาจจะยุ่ง อยู่กับการเผยแพร่ความรู้ หรือสิ่งอื่นๆ ที่สำคัญต่อศาสนา และผลประโยชน์ของประชาชาติมุสลิม เขาก็อาจจะอ่าน เท่าที่จะไม่ทำให้มีผลกระทบ ต่อหน้าที่การงานของเขา ส่วนคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เข้าข่ายกรณีดังกล่าว ก็อาจจะอ่านให้มาก แต่ก็อย่าให้ถึงขั้น ทำให้รู้สึกเบื่อ หรือต้องอ่านเร็วจน เกินไป” (อัตติบยาน 76)
(ฟัตวาอุละมาอฺ รวบรวมโดย เชค ศอลิหฺ อัลมุนัจญิด)

(25) - การถือศีลอดของเด็ก 
ถาม : เราจะให้เด็ก ที่มีอายุไม่ถึง 15 ปี ถือศีลอด เหมือนกับที่เราให้เขาละหมาด หรือไม่? 
ตอบ : สมควรฝึกให้เด็ก ที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ ได้ถือศีลอด หากพวกเขาสามารถจะทำได้ ดังเช่นที่เศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม ได้ฝึกลูกหลานของท่าน 
อุละมาอ์ท่านกล่าวว่า ผู้ปกครอง ควรที่จะใช้ให้ลูกหลานของตน ถือศีลอด เพื่อจะได้เป็นการฝึกฝนพวกเขา ทำให้เกิดความเคยชิน และทำให้รากฐานทางศาสนา ฝั่งแน่น ลงไปในจิตใจของพวกเขา จนเปรียบเสมือน เป็นเรื่องปกติธรรมสำหรับพวกเขา แต่ถ้าพวกเขาไม่สามารถทนได้ หรืออาจเกิดอันตราย ก็ไม่จำเป็นต้องถือศีลอด แต่สิ่งหนึ่ง ที่อยากจะเตือน คือ พ่อแม่บางคน ไม่ยอมให้ลูกหลานตน ถือศีลอด ซึ่งถือว่า ขัดกับแนวทางของบรรดาเศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม โดยพ่อแม่เหล่านั้น อ้างว่า เป็นเพราะสงสาร และเมตตาลูกๆ ของพวกเขา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ความเมตตาที่แท้จริง ก็คือการกำชับใช้เด็กเหล่านั้น ให้มีความเคยชิน กับบทบัญญัติอิสลาม ซึ่งไม่ต้องสงสัยว่าเช่นนี้ คือการอบรมสั่งสอน ที่ถูกต้องสมบูรณ์ 

มีรายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ความว่า : “และผู้ชายนั้น มีหน้าที่รับผิดชอบ สมาชิกในครอบครัวของเขา และเขาจะถูกถาม ถึงการทำหน้าที่ของเขา” (บันทึกโดย บุคอรี 893 และมุสลิม 1829)

(26) - ไปละหมาดตะรอเวียะหฺช้า 
ถาม : ในกรณีที่ฉันไปมัสยิดช้า แล้วไม่ทันละหมาดอิชาอ์ พร้อมญะมาอะฮฺ ฉันจึงละหมาดคนเดียว ทำให้ฉันพลาดการละหมาดตะรอเวียะหฺ พร้อมอิหม่าม 2 ร็อกอัต เช่นน ี้ฉันจะละหมาด 2 ร็อกอัตนี้ อย่างไร? ละหมาดคนเดียว หรือเช่นไร? 
ตอบ : 
ข้อแรก : ในกรณีที่คุณไปไม่ทันละหมาดอิชาอ์ โดยเมื่อไปถึงปรากฏอิหม่าม ได้เริ่มละหมาดตะรอเวียะหฺแล้ว ที่ดีกว่าคือ ให้คุณละหมาด พร้อมอิหม่าม โดยเนียต (ตั้งเจตนา) ว่า เป็นละหมาดอิชาอ์ เมื่ออิหม่ามให้สลามแล้ว ก็ให้คุณขึ้นละหมาด ต่อให้เสร็จ ในส่วนที่เหลือ และ คุณอย่าได้ละหมาด (อิชาอ์) คนเดียว หรือพร้อมญะมาอะฮฺอื่น เพื่อที่จะได้ไม่เกิดการทำญะมาอะฮฺซ้อนกัน สองญะมาอะฮฺ ในเวลาเดียวกัน และอาจจะเป็นการรบกวน หรือสร้างความสับสนได้ 
ข้อที่สอง : ในส่วนของละหมาดตะรอเวียะหฺ ที่คุณพลาดการละหมาด พร้อมอิหม่าม ไปนั้น หากคุณประสงค์จะละหมาดชด ก็ไม่ต้องให้สลามพร้อมอิหม่าม ในการละหมาดวิเตร แต่ให้คุณลุกขึ้นละหมาด อีก 1 ร็อกอัต ให้จำนวนร็อกอัตละหมาดวิเตร เป็นเลขคู่ แล้วจึงให้สลาม จากนั้น ก็ให้ละหมาดตะรอเวียะห ฺในส่วนที่คุณพลาดไป แล้วจึงตามด้วยวิเตร
มีคนถาม เชค อิบนุ อุษัยมีน เราะหิมะฮุลลอฮฺ ว่า : หากฉันไปละหมาดตะรอเวียะหฺช้า และพลาดการละหมาด บางส่วนไป เช่นนี้ ฉันต้องละหมาดใช้ หลังละหมาดวิเตร หรือเช่นไร?
ท่านตอบว่า : ท่านอย่าได้เกาะฎอ (ละหมาดชด) ส่วนที่ท่านพลาดไป หลังการละหมาดวิเตร แต่ถ้าหากท่านประสงค์จะเกาะฎอ ส่วนที่ท่านพลาดไป ก็ให้ละหมาดวิเตร ที่ท่านละหมาดพร้อมอิหม่ามนั้น เป็นจำนวนคู่ (นั่นคือ เมื่ออิหม่ามให้สลามจากวิเตรแล้ว ก็ให้ลุกขึ้นละหมาดอีก 1 ร็อกอัต แล้วจึงค่อยให้สลาม) หลังจากนั้น ก็ให้ละหมาด ในส่วนที่ท่านพลาดไป แล้วจึงตามด้วยละหมาดวิเตร
ซึ่ง ณ ตรงนี้ มีประเด็นหนึ่ง ที่อยากจะชี้แจงคือ หากท่านไปถึงแล้ว อิหม่ามเริ่มละหมาดตะรอเวียะหฺแล้ว ในขณะที่ท่านยังไม่ละหมาดอิชาอ์ ท่านจะทำเช่นไร? จะละหมาดอิชาอ์คนเดียว หรือ จะละหมาด พร้อมกับอิหม่าม ซึ่งกำลังละหมาดตะรอเวียะหฺ ด้วยเนียตอิชาอ์?
คำตอบ คือ ให้ละหมาดพร้อมอิหม่าม ซึ่งกำลังละหมาดตะรอเวียะหฺ โดยที่ท่านเนียตละหมาดอิชาอ์ เมื่ออิหม่ามให้สลาม จากละหมาดตะรอเวียะหฺ ก็ให้ท่านยืนขึ้นละหมาด ในส่วนที่ท่านพลาดไปให้ครบ ซึ่งท่านอิมามอะหฺมัด เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้ระบุถึงประเด็นนี้ อย่างเจาะจง ซึ่งนี่ก็เป็นทัศนะ ที่ท่านอิบนุตัยมิยะฮฺ ให้น้ำหนัก และเป็นทัศนะที่มีน้ำหนักที่สุด เพราะ ที่ถูกแล้ว คือ : อนุญาตให้ผู้ที่ทำการละหมาดฟัรฎู ตามหลังผู้ที่ทำการละหมาดสุนัตได้ โดยมีหลักฐาน คือ หะดีษที่ท่าน มุอาซ บิน ญะบัล เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ละหมาดอิชาอ์ พร้อมท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้วหลังจากนั้น ท่านก็กลับไปนำละหมาดชาวบ้าน ที่หมู่บ้านของท่านอีกครั้ง ซึ่งสำหรับท่านการละหมาด (ครั้งที่สอง) ถือเป็นสุนัต และสำหรับพวกเขาเหล่านั้น ถือเป็นฟัรฎู (จาก อัลลิกออ์ อัชชะฮฺรีย์)
ซึ่งหากท่านสามารถเกาะฎอ ละหมาดตะรอเวียะหฺนั้น ในรูปญะมาอะฮฺได้ ก็เป็นการดี แต่ถ้าไม่สะดวก ก็อาจจะละหมาดเพียงคนเดียวได้ ไม่มีปัญหา

(27) - ปวดศีรษะมาก จะละศีลอดได้ไหม? 
ถาม : ในเดือนรอมฎอน ฉันรู้สึกปวดศีรษะ อย่างรุนแรง อันเนื่องมาจากอาการปวดฟัน ฉันจะทานยา ในขณะที่ฉันถือศีลอด อยู่ได้ไหม? 
ตอบ : การปวดศีรษะอย่างรุนแรงนั้น ถือเป็นหนึ่งในข้ออนุโลม ให้ละศีลอดในเดือนรอมฎอนได้ โดยเฉพาะหากการถือศีลอดนั้น ยิ่งทำให้อาการปวดรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่นนี้ ก็อนุญาตให้ผู้ที่มีอาการดังกล่าว ละศีลอด เพื่อทานยาแก้ปวด และทานอาหาร ดื่มน้ำ เพื่อให้หายจากอาการปวดศีรษะได้ โดยที่เขาจำเป็น จะต้องถือศีลอดชด ในภายหลัง ตามจำนวนวัน ที่เขาได้ละศีลอดไป ทั้งนี้ เพราะอัลลอฮฺตะอาลาตรัสความว่า "และผู้ใดในหมู่เจ้าเจ็บป่วย หรืออยู่ระหว่างการเดินทาง เขาก็จงถือศีลอดชดในวันอื่นๆ" (อัลบะเกาะเราะฮฺ : 185)
เชค มุหัมมัดศอลิหฺ อัลมุนัจญิด
www.islamqa.com/ar/ref/108414 

(28) - หาหมอฟันในเดือนรอมฎอน 
ถาม : ถ้าหากว่า เราปวดฟัน จำเป็นต้องไปหาทันตแพทย์ เพื่อทำการรักษา ด้วยการอุด หรือถอนฟันซี่ใดซี่หนึ่ง เช่นนี้ จะมีผลต่อการถือศีลอดของเราหรือไม่? แล้วในกรณีที่ทันตแพทย์ฉีดยาชา เช่นนี้จะมีผลต่อการถือศีลอดไหม? 
ตอบ : ที่กล่าวมาในคำถามนั้น ล้วนไม่มีผล ต่อการถือศีลอดแต่อย่างใด ถือเป็นสิ่งที่อนุโลมให้ได้ แต่ทั้งนี้ ก็จำเป็นต้องระวัง ไม่กลืนยา หรือเลือดเข้าไป การฉีดยาชา ก็เช่นเดียวกัน ไม่มีผลต่อการถือศีลอด แต่อย่างใด เพราะมันไม่ได้อยู่ในขอบข่าย ของสิ่งที่เป็นอาหาร หรือเครื่องดื่ม ดังนั้น การถือศีลอด จึงถือว่าใช้ได้ 
(ฟัตวาเชคอับดุลอะซีซ บินบาซ เราะหิมะฮุลลอฮฺ)
เชคมุนัจญิด กล่าวเสริมว่า: แต่ถ้าคุณสามารถที่จะไปหาหมอ ในเวลากลางคืนได้ ก็จะเป็นการดีกว่า 
ที่มา : www.islamqa.com/ar/ref/13767

(29) - สิ่งที่ส่งเสริมให้ทำในเดือนเราะมะฎอน 
ถาม : อะไรคือการงาน ที่ส่งเสริมให้มุสลิมปฏิบัติ ในเดือนเราะมะฎอน? 
ตอบ : ส่งเสริมให้ร่วมละหมาดกิยาม (ตะรอเวียะหฺ) พร้อมญะมาอะฮฺ (ละหมาดร่วมกันหลายๆ คน) ด้วยความคุชูอฺ (ใจที่สงบนิ่ง) และส่งเสริมให้ละหมาดสุนัต ให้มาก ทั้งกลางวันและกลางคืน ส่งเสริมให้อ่านอัลกุรอาน ให้มาก พร้อมทั้งศึกษาทำความเข้าใจ และส่งเสริมให้ขอดุอาอ์ และกล่าวซิกรฺ (รำลึกสดุดีอัลลอฮฺ) ในรูปแบบต่างๆ และใช้เวลาให้หมดไป กับการทำความดี บริจาคทาน และเลี้ยงละศีลอด รวมไปถึงการงานอื่นๆ เช่น ชักชวนกันทำความดี ห้ามปรามจากความชั่ว และห่างไกลจากสิ่งที่ไร้ประโยชน์..วัลลอฮุอะลัม
ฟัตวาเชคอับดุลลอฮฺ อัลญิบรีน คำถามเลขที่ 8066
ที่มา www.ibn-jebreen.com/ftawa.php?view=vmasal&subid=8066&parent=806 

--- ฟัตวาเกี่ยวกับสตรี เรื่องรอมฏอน-

(1) คำถาม เมื่อสตรีหมดรอบเดือน ในเดือนรอมาฎอน หลังจากแสงอรุณขึ้น เธอจะต้องงด การรับประทานอาหาร และถือศีลอดหรือไม่ ? การถือศีลอดในวันนั้น จะใช้ได้หรือไม่อย่างไร ? หรือจะต้องถือศีลอดทดแทนภายหลัง ?

คำตอบ เมื่อสตรีหมดเลือดรอบเดือน หลังจากแสงอรุณขึ้นแล้ว เกี่ยวกับการงดรับประทานอาหาร นักวิชาการมุสลิม ได้ให้ไว้ 2 ทัศนะ คือ
1. ท่านอีหม่ามอะหมัดได้ให้ทัศนะไว้ว่า “เธอต้องงดจากการกิน หรือดื่ม ในวันดังกล่าว แต่มิได้ถือว่า เธอได้ถือศีลอด ดังนั้น จะต้องถือศีลอดทดแทน” ทัศนะข้อนี้ นับได้ว่าเป็นทัศนะที่ชัดเจน พอสมควร
2. ไม่ต้องงดจากการกินดื่ม ในวันนั้น เพราะการถือศีลอดนั้น ใช้ไม่ได้ เนื่องจากยังมีรอบเดือน ตั้งแต่เริ่มแรกของวัน จึงนับได้ว่า เธอไม่ใช่ผู้ที่ต้องถือศีลอด เมื่อการถือศีลอดในวันดังกล่าว ใช้ไม่ได้ การถือศีลอด ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะการถือศีลอด เป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับเธอ ในเวลานั้น การถือศีลอดที่ถูกต้อง ตามหลักศาสนา ต้องเริ่มตั้งแต่แสงอรุณขึ้น จนถึงดวงอาทิตย์ตกดิน ทัศนะที่สอง จึงมีน้ำหนัก มากกว่าทัศนะแรก แต่ทั้งสองทัศนะนี้ เห็นตรงกันว่าเธอจะต้องถือศีลอดทดแทน ภายหลัง

(2) คำถาม หากสตรีสิ้นสุดการมีรอบเดือน และได้อาบน้ำชำระร่างกาย หลังจากเวลาอัลซุบฮ์ ในวันนั้นเธอได้ละหมาด และถือศีลอด แล้วเธอจะต้องถือศีลอดทดแทน อีกหรือไม่ อย่างไร ? 

คำตอบ เมื่อสตรีหมดเลือดรอบเดือน ก่อนแสงอรุณขึ้น ในเดือนรอมาฎอน แม้แต่แค่เพียงเล็กน้อยก็ตาม เธอจำเป็นต้องถือศีลอด เพราะได้ถือศีลอดแล้ว ก่อนที่จะอาบน้ำยกฮะดัษ แม้ว่าจะอาบน้ำ หลังจากแสงอรุณขึ้นแล้ว ให้ถือว่าใช้ได้ เช่นเดียวกับผู้ชาย ที่ร่วมหลับนอน หรือมีเพศสัมพันธ์กับภรรยา แล้วมาอาบน้ำ หลังแสงอรุณขึ้น ถือว่าการถือศีลอดของเขานั้น ใช้ได้ 
ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าจะให้ความกระจ่าง ในประเด็นที่สตรีบางคน มักจะเข้าใจผิด ในเรื่องการมีรอบเดือน ในช่วงหลังจากละศีลอดแล้ว ซึ่งจะเข้าใจว่า การถือศีลอดในวันนั้น เป็นโมฆะ ความจริงแล้ว หากมีรอบเดือน หลังจากเวลาตะวันตกดิน (มัฆริบ) ไปแล้ว แม้แต่เพียงเล็กน้อย ถือว่า การถือศีลอดของเธอนั้น สมบูรณ์ ไม่เป็นโมฆะแต่อย่างใด

(3) คำถาม เมื่อสตรีสิ้นสุดการมี นิฟาส ก่อนกำหนดเวลา 40 วัน จะต้องถือศีลอดหรือไม่อย่างไร ?

คำตอบ เมื่อสตรีสิ้นสุดการมี นิฟาส ก่อนกำหนดเวลา 40 วัน จะต้องถือศีลอด ละหมาด และอนุญาตให้ร่วมหลับนอน มีเพศสัมพันธ์กับสามีได้ เพราะเธอสะอาด และหมดจากการมี นิฟาส แล้ว ไม่เป็นที่ต้องห้ามสำหรับเธอ ที่จะถือศีลอด ละหมาด และร่วมหลับนอน กับสามีของเธอ

(4) คำถาม สตรีที่มีน้ำคาวปลา (นิฟาส) จะต้องรอจนถึง 40 วันก่อน จึงจะอาบน้ำ และละหมาดได้ หรือรอให้ เลือดนิฟาส หมดก่อน แล้วจึงทำการละหมาด และถือศีลอด ? ระยะเวลาที่น้อยที่สุด ของการมีนิฟาส หลังคลอดนั้น ปกติจะมีกี่วัน ? 

คำตอบ เลือดนิฟาส หลังคลอดบุตรนั้น ไม่มีระยะเวลาที่แน่นอน ถ้าเวลาใดที่ยังคงมีอยู่ ก็ไม่ต้องละหมาด ไม่ต้องถือศีลอด และไม่อนุญาต ให้มีเพศสัมพันธ์กับสามี จนกว่าจะหมดเลือดนิฟาส และสะอาด ถ้าหมดก่อนกำหนด 40 วัน เช่น หมดในระยะเวลาเพียง 10 วัน หรือ 5 วัน จำเป็นต้องอาบน้ำ และละหมาด และสามารถมีเพศสัมพันธ์กับสามีได้ การมีหรือไม่มีนิฟาสนั้น เป็นสิ่งที่สัมผัสได้ ฉะนั้น ในกรณีที่มีนิฟาส ให้ปฏิบัติตามหลักการ ที่วางไว้ เมื่อสิ้นสุดและสะอาด ต้องละหมาด และถือศีลอด ตามปกติ ถ้าหากมีเกินกว่า 60 วัน ให้ถือว่า เป็นเลือดอิสติฮาฏอฮ์ ต้องรอให้ครบจำนวนวัน เท่ากับจำนวนวัน ของการมีรอบเดือนตามปกติ และหลังจากนั้น ต้องอาบน้ำ และละหมาด

(5) คำถาม หากสตรีมีเลือดออกมา กระปิดกระปรอย ทุกวัน ตลอดทั้งเดือนรอมาฎอน และ เธอได้ถือศีลอดทุกวัน การถือศีลอดนั้นถูกต้อง และสมบูรณ์หรือไม่อย่างไร ?

คำตอบ การถือศีลอดของสตรี ถือว่าสมบูรณ์ถูกต้อง ส่วนเลือดที่ออกมานั้น ไม่นับว่าเป็นเลือดรอบเดือน
“ อาลี อิบนุ อาบีฏอเล็บ ได้กล่าวว่า เลือดที่ออกมาทีละนิด เปรียบเสมือนเลือด ที่ออกจากจมูก ไม่ใช่เลือดรอบเดือน ”

6) คำถาม เมื่อสตรีหมดเลือดรอบเดือน หรือนิฟาส ก่อนแสงอรุณขึ้น แต่ยังไม่ได้อาบน้ำยกฮะดัษ มาอาบน้ำหลังแสงอรุณขึ้นแล้ว การถือศีลอดในวันนั้น ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร ? 

คำตอบ การถือศีลอดนั้น ถูกต้องสมบูรณ์ เพราะเธอได้ถูกจัดอยู่ ในกลุ่มผู้ที่ต้องถือศีลอดแล้ว เช่น ผู้ที่อยู่ในฮะดัษ หรือมีญะนาบะห์ (การหลั่งอสุจิ หรือมีเพศสัมพันธ์) ก่อนแสงอรุณขึ้น แต่เขากลับไปอาบน้ำยกฮะดัษ ในช่วงเวลาหลังแสงอรุณขึ้นแล้ว ถือว่าการถือศีลอดของเขา ถูกต้องสมบูรณ์ อัลลอฮ์ ทรงตรัสไว้ใน อัลกุรอาน ความว่า : “ บัดนี้ พวกเจ้าจงสมสู่ กับพวกนางได้ และแสวงหาสิ่งที่อัลลอฮ์ ได้ทรงกำหนดให้แก่พวกเจ้าเถิด และจงกิน และดื่ม จนกระทั่งเส้นขาว (แสงสว่าง) จะประจักษ์แก่พวกเจ้า จากเส้นดำ (ความมืด) เนื่องจากแสงรุ่งอรุณ” ฉะนั้น เมื่ออัลลอฮ์ ทรงอนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์ได้ จนกระทั่งมีแสงสว่างของรุ่งอรุณ การอาบน้ำ จึงต้องอาบหลังจากแสงอรุณขึ้น

ท่านหญิงอาอีชะฮ์ รอฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า: “ ท่านนะบี ได้ทำการถือศีลอด ในเช้าของวันใหม่ ทั้งๆ ที่ท่านยังอยู่ในภาวะ ที่มีญะนาบะห์ เนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์กับภริยา ในตอนกลางคืน” (นั่นแสดงว่า ท่านยังไม่ได้อาบน้ำ ชำระร่างกาย จนกระทั่งแสงอรุณขึ้นแล้ว)

(7) คำถาม ในกรณีที่สตรี มีความรู้สึกเหมือนมีเลือดรอบเดือน ก่อนดวงอาทิตย์ตกดิน แต่ปรากฏว่า ไม่มีรอบเดือนไหลออกมา แต่อย่างใด การถือศีลอดนั้น จะสมบูรณ์หรือไม่ อย่างไร ?

คำตอบ เมื่อสตรีมีความรู้สึก เหมือนมีรอบเดือน แต่ไม่มีเลือดไหลออกมา จนถึงพระอาทิตย์ตกดิน การถือศีลอดนั้น ถือว่าใช้ได้ และไม่ต้องถือศีลอดทดแทน แต่อย่างใด

(8) คำถาม ถ้าสตรีสังเกตเห็นว่า มีเลือดออกมา แต่ยังไม่มั่นใจว่า จะเป็นเลือดรอบเดือนหรือไม่ การถือศีลอดนั้น จะเป็นอย่างไร ? 

คำตอบ การถือศีลอด ถือว่าใช้ได้ เพราะเลือดที่ออกมา ไม่ใช่เลือดรอบเดือน จนกว่าจะมั่นใจว่า เป็นเลือดรอบเดือนจริงๆ เท่านั้น 

(9) คำถาม เมื่อสังเกตเห็นว่า มีเลือดไหลออกมา เพียงเล็กน้อย หรือเพียงไม่กี่หยด ในช่วงเวลา ที่ไม่ใช่ระยะเวลา ของการมีรอบเดือน หรือบางครั้ง อาจสังเกตเห็น มีเลือดไหลออกมา เพียงเล็กน้อย หรือเพียงไม่กี่หยด ในระยะเวลา ของการมีรอบเดือนพอดี ทั้งสองกรณีนี้ การถือศีลอด จะเป็นอย่างไร ? 

คำตอบ ถ้ามีเลือดไหลออกมา ในช่วงระยะเวลา ของรอบเดือน ถือว่าเลือดนั้นเป็นเลือดรอบเดือน ถึงแม้ว่าเลือดที่ออกมา จะมีเพียงไม่กี่หยดก็ตาม แต่ถ้ามีเลือดไหลออกมา ในเวลาที่ไม่ใช่ช่วงระยะเวลา ของการมีรอบเดือน ถือว่า เลือดนั้นไม่เป็นเลือดรอบเดือน แต่อย่างใด 

(10) คำถาม สำหรับสตรีที่มีรอบเดือน หรือ นิฟาส (เลือดหลังคลอดบุตร) จะรับประทานอาหาร หรือดื่ม ในเวลากลางวัน ของเดือนรอมาฎอน ได้หรือไม่ ? 

คำตอบ สตรีที่มีรอบเดือน หรือ นิฟาส สามารถรับประทานอาหาร และดื่มน้ำได้ ตามปกติ แต่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร ต่อหน้าเด็ก หรือคนอื่นๆ เพราะเกรงว่า จะทำให้ผู้ที่พบเห็น เข้าใจผิดคิดว่า เธอไม่ได้ถือศีลอด 

(11) คำถาม เมื่อสตรีสะอาดสิ้นสุด จากการมีรอบเดือน หรือนิฟาส ในช่วงเวลาอัสริ จำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องละหมาดดุฮ์ริด้วย หรือเพียงแค่ละหมาดอัสริอย่างเดียว ? 

คำตอบ ในกรณีนี้ไม่จำเป็นต้องละหมาดดุฮ์ริ ด้วย เพราะไม่มีหลักฐานอ้างอิง ว่า จะต้องละหมาดชดใช้ 
ท่านเราะซูล ได้ กล่าวความว่า : “ผู้ใดที่ทันละหมาดอัสริ เพียงแค่หนึ่งรอกอัต ก่อนพระอาทิตย์ตก ก็ถือว่าเขาทันละหมาดอัสริ”
ท่านเราะซูล ไม่ได้กล่าวถึงการละหมาดดุฮ์ริ และในกรณีเดียวกัน หากสตรีมีรอบเดือน หลังจากเข้าเวลาดุฮ์ริแล้ว เธอต้องชดทดแทนการละหมาดดุฮ์ริอย่างเดียว โดยไม่ต้องละหมาดใช้ของอัสริ หรือถ้าสะอาด หรือสิ้นสุดการมีรอบเดือน ก่อนเข้าเวลาอีซาอ์ ต้องละหมาดอีซาอ์ โดยไม่จำเป็นต้องละหมาดมัฆริบด้วย

(12) คำถาม ในระยะปลายๆ ของการมีรอบเดือน ก่อนจะหมด สตรีไม่เห็นร่องรอยของเลือด หรือตกขาวแล้ว ถามว่าเธอต้องละหมาด และถือศีลอด ในวันนั้นหรือไม่ หรือมีข้อปฏิบัติในกรณีนี้ อย่างไร ? 

คำตอบ ในเมื่อปกติแล้วเธอไม่เคยมีตกขาว เหมือนสตรีคนอื่น ในกรณีนี้จำเป็นต้องทำความสะอาด ละหมาดและถือศีลอด แต่ถ้าปกติแล้ว เธอมีตกขาวหลังสิ้นสุดเลือดแล้ว จำเป็นต้องรอตกขาวมาก่อน แล้วจึงจะถือศีลอด และละหมาดได้ 

(13) คำถาม เมื่อสตรีสะอาดจาการมีรอบเดือน และได้อาบน้ำทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว จำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องเปลี่ยนชุด ที่สวมใส่ตอนที่มีรอบเดือน ทั้งๆ ที่ชุดนั้น ไม่ได้เปื้อนเลือด แต่อย่างใด ? 

คำตอบ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเสื้อผ้า เพราะรอบเดือนนั้น ไม่ได้ทำให้ร่างกายสกปรก แต่ที่เป็นนาญิส คือสิ่งที่เปื้อนเลือดรอบเดือนเท่านั้น เพราะเหตุนี้ท่านนะบี ได้สั่งให้สตรีชำระล้างเสื้อผ้า ที่เปื้อนเลือดรอบเดือน และให้ใช้สวมใส่ทำการละหมาด  

 

ref.โดย: เชคมุหัมมัด อิบนุ ศอลิห์ อัลอุษัยมีน 

แปลและเรียบเรียง 
อ.มีลีกอดียา จาปะกียา
อ.ซาอูเดาะห์ แฉ๊ะ
อ.ซูบัยดะห์ อูมา

Source: http://www.annisaa.com/forum 

ที่มา http://www.muslimthai.com