บทความวิชาการ
หน้าแรก   /   บทความวิชาการ  /   ถาม-ตอบ เกี่ยวกับการถือศีลอด
รอมฎอนคืออะไร ถาม-ตอบ เกี่ยวกับการถือศีลอด
ถาม : การถือศีลอดคืออะไร?
ตอบ : การถือศีลอด คือการงดเว้น จากการกิน การดื่ม และการมีเพศสัมพันธ์ ตั้งแต่แสงอรุณขึ้น จนกระทั่งดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เพื่อเป็นอิบาดะฮฺ ต่ออัลลอฮ์

ถาม :มุสลิมทุกคนจำเป็นจะต้องถือศีลอดหรือไม่?
ตอบ :มุสลิมทุกคนจำเป็นต้องถือศีลอด เพราะการถือศีลอด เป็นหลักการของศาสนาอิสลาม

ถาม ใครบ้างที่จำเป็นต้องงดถือศีลอด ในเดือนรอมฎอน และถือศีลอดชดใช้ในวันอื่น?
ตอบ สตรีที่มีรอบเดือน คือ ในขณะที่มีรอบเดือนนั้น ต้องงดถือศีลอด แต่ต้องถือศีลอดชดใช้ในภายหลัง

ถาม : ฟัรดูในการถือศีลอดมีอะไรบ้าง ?
ตอบ
1. มีเจตนาในการถือศีลอด เพราะท่านรอซูล กล่าวความว่า “ผู้ใดที่ไม่ได้ตั้งเจตนา ในการถือศีลอด ก่อนแสงอรุณขึ้น การถือศีลอดของเขา ก็ใช้ไม่ได้” ผู้ที่ลุกขึ้นมารับประทานอาหารสะฮูร เพื่อถือศีลอด อันเป็นอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮ์ ในวันรุ่งขึ้น ก็เท่ากับว่าเขามีเจตนา ในการถือศีลอดแล้ว
2. งดเว้นจากการกิน การดื่ม การมีเพศสัมพันธ์ ตั้งแต่แสงอรุณขึ้น ถึงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า

ถาม : สิ่งที่เป็นซุนนะฮ ฺในการถือศีลอด มีอะไรบ้าง?
ตอบ : สิ่งที่เป็นซุนนะฮฺ ในการถือศีลอด ได้แก่
1. รับประทานอาหารสะฮูร โดยให้ล่าช้าในการรับประทาน ท่านรอซูล ศ๊อลลัลลอฮุอะลัย ฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “ ประชาชาติของฉัน ยังอยู่ในความดี ในเมื่อพวกเขา รีบแก้ศีลอด และ ล่าช้าในการรับประทานอาหารสะฮูร ”
2. รีบแก้ศีลอด ด้วยอินทผาลัมสุก หรือแห้ง หรือน้ำ โดยรับประทานเป็นจำนวนคี่ ก่อนการแก้ศีลอดให้อ่านดุอาว่า “ อัลลอฮุมมะ ละกะศุมตุ วะอาลาริซกิกะ อัฟตอรตุ ”
3. งดเว้นการปฏิบัติ ในสิ่งที่ขัดต่อมารยาทของการถือศีลอด เช่น การด่าทอ นินทา การพูด โกหก การพูดในสิ่งที่ไร้สาระ ฯลฯ
4. อ่านอัลกุรอาน
5. ละหมาดกิยาม (ตะรอเวียะฮฺ) ในค่ำคืนของเดือนรอมฎอน
6. การทำเอี๊ยะติกาฟในมัสยิด เฉพาะอย่างยิ่งใน 10 คืนสุดท้าย ของเดือนรอมฎอน เพื่อแสวงหาคืน อัล ก๊อดรฺ (ลัยละตุ้ลก๊อดรฺ)
7. ทำสิ่งที่เป็นความดีต่างๆ ให้มาก ไม่ว่าจะเป็นการละหมาด การกล่าวซิกรุลลอฮฺ และการทำศอดาเกาะฮฺ

ถาม : สิ่งที่ทำให้เสียศีลอดมีกี่ประเภท?
ตอบ
ก. สิ่งที่ทำให้เสียศีลอดและจำเป็นต้องชดใช้
ข. สิ่งที่ทำให้เสียศีลอดและจำเป็นต้องชดใช้ พร้อมกับเสียค่าปรับตามศาสนบัญญัติ (กัฟฟาเราะฮฺ) ผู้ใดที่เสียศีลอดในเดือนรอมฎอนก็จำเป็นที่เขาจะต้องระงับการกิน การดื่มต่อไปจนดวงอาทิตย์ตกเพื่อเป็นการให้เกียรติต่อเดือนรอมฎอน

ถาม : สิ่งที่ทำให้เสียศีลอดและจะต้องชดใช้มีอะไรบ้าง?
ตอบ
1. การกิน การดื่มโดยเจตนา การกินการดื่มโดยหลงลืม หรือเข้าใจผิด หรือถูกบังคับ ไม่ทำให้เสียศีลอด และให้เขาถือศีลอดต่อไปจนกระทั่งดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จึงละศีลอด
2. การเจตนาอาเจียน ส่วนอาเจียนโดยถูกบังคับ หรือเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่เสียศีลอด การมีรอบเดือน (เฮด) หรือเลือดเนื่องจากการคลอดบุตร (นิฟาส) แม้ว่าจะมีมาก่อนดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าเพียงเสี้ยววินาทีก็ทำให้เสียศีลอด
3. การทำให้อสุจิเคลื่อนออกมาด้วยเจตนาขณะถือศีลอด
4. เจตนาแก้ศีลอดทั้งๆที่รู้ว่าดวงอาทิตย์ยังไม่ลับขอบฟ้า
5. การนัดยานัตถุ์ การสูบบุหรี่ กินหมาก ตลอดจนสิ่งเสพย์ติดอื่นๆ ส่วนการดมกลิ่นดอกไม้ ผลไม้ อาหาร ไม่ทำให้เสียศีลอด
6. การฉีดยาบำรุงกำลัง อาหารเสริม ให้น้ำเกลือ เพราะจะทำให้เกิดความอิ่ม อันขัดต่อเจตนารมณ์ของการถือศีลอด
7. การให้เลือด

ถาม : สิ่งที่อนุญาตให้กระทำได้ขณะถือศีลอดมีอะไรบ้าง?
ตอบ
1. อาบน้ำ ดำน้ำ ถ้าหากว่าน้ำเข้าปากโดยไม่ได้ตั้งใจไม่ทำให้เสียศีลอด
2. การเอาน้ำกลั้วปาก แม้จะกระทำโดยมิได้อาบน้ำละหมาดก็ตาม
3. การกรอกเลือด การถอนฟัน การแคะหู แคะจมูก
4. การกลืนน้ำลาย การสูดดมกลิ่นอาหาร
5. การแปรงฟัน การขากเสลด
6. การชิมแกง เมื่อรู้รสแล้วจำเป็นจะต้องบ้วนทิ้งถ้าหากกลืนเข้าไป ทำให้เสียศีลอด

ถาม : ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันไม่ต้องถือศีลอดมีผู้ใดบ้าง?
ตอบ: ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันไม่ต้องถือศีลอดได้แก่
1. ผู้ที่แก่ชราไม่สามารถถือศีลอดได้ หรือ ผู้ที่เจ็บป่วยเรื้อรังโดยไม่หวังว่าจะหายป่วยบุคคลเหล่านี้ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องถือศีลอดใช้ด้วย แต่ต้องให้อาหารแก่คนยากจนแทนวันที่เขาขาดไป ที่ดีควรเป็นอาหารที่เขารับประทานอิ่มใน 1 วันแทนแต่ละวัน หรือจะออกเป็นข้าววันละ 1 ลิตรก็ได้
2. ผู้ที่ตั้งครรภ์ และให้นมบุตร การถือศีลอดของนางใช้ได้ แต่ถ้าหากนางกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ตัวของนางหรือบุตรของนาง ก็อนุญาตให้นางละศีลอดได้ แต่จะต้องถือศีลอดใช้ในวันที่ขาดไป
3. ผู้มีรอบเดือน (เฮด) หรือเลือดหลังจากการคลอดบุตร (นิฟาส) นางจะต้องละการถือศีลอด ถ้าหากว่านางถือศีลอด การถือศีลอดของนางก็ใช้ไม่ได้ และจะต้องถือศีลอดใช้ในวันที่ขาด
4. ผู้ที่เดินทาง ในเมื่อการเดินทางเป็นภาระหรือหนักสำหรับเขา และจำเป็นที่เขาจะต้องถือศีลอดใช้ในวันที่ขาดไป แต่ถ้าหากว่าการถือศีลอดมิได้เป็นภาระหนักสำหรับผู้ที่เดินทางก็สมควรจะถือ ศีลอดขณะเดินทาง
5. ผู้ที่จำเป็นต้องทำงานหนักตลอดเวลาเช่นผู้อยู่ในเหมืองแร่ กรรมกรแบกหาม ทหารที่ประจำการอยู่ในสนามรบ ฯลฯ อนุญาตให้เขาละศีลอดได้ แต่จะต้องถือศีลอดชดใช้เมื่อมีโอกาส เพราะหนี้ของอัลลอฮฺจำเป็นจะต้องชดใช้ก่อนสิ่งอื่นใด

ถาม : วันที่ชอบให้ถือศีลอดซุนนะฮฺมีวันอะไรบ้าง?
ตอบ
1. ถือศีลอดวันเว้นวัน ซึ่งเป็นการถือศีลอดตามแบบของนบีวู๊ด อลัยฮิสสลาม
2. การถือศีลอดในวันที่ 9 และวันที่ 10 ของเดือนมุฮัรรอม
3. การ ถือศีลอด 6 วัน ในเดือนเซาวาล ท่านรอซูล กล่าวว่า“ ผู้ใดถือศีลอดในเดือนรอมฎอนและติดตามด้วยการถือศีลอดอีก 6 วัน ในเดือนเซาวาล แท้จริงเขาเสมือนว่าเขาได้ถือศีลอดทั้งปี ” การถือศีลอด 6 วันนี้ จะติดต่อกันหรือไม่ติดต่อกันทั้ง 6 วัน ก็ได้ แต่ให้อยู่ในเซาวาล
4. ถือศีลอดในวันอารอฟะฮฺ สำหรับผู้ที่มิได้ประกอบพิธีหัจญ์
5. ถือศีลอดในวันจันทร์ และวันพฤหัสบดี
6. ถือลอดในวันที่ 13-14-15 ของทุกเดือนอาหรับ
ถาม : วันที่ห้ามถือศีลอดได้แก่วันอะไรบ้าง?
ตอบ
1. วันอีด-ฟิฏรฺ และวันอีดอัล-อัฏฮา
2. วันตัชรีก คือวันที่ 14-15-16 ซุลฮิจญะฮฺ
3. การถือศีลอดในวันที่สงสัยว่า จะเข้าเดือนรอมฎอน และวันทีสงสัยว่าจะเป็นวันที 1 ของเดือนเซาวาล
4. การถือศีลอดเฉพาะวันศุกร์หรือวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ แต่ถ้าหากว่า จะถือศีลอดในวันดังกล่าว จะต้องถือศีลอดควบกัน เช่น ควบกับวันศุกร์และวันเสาร์ ถือว่าเป็นอนุญาตให้ถือศีลอดได้ ทั้งนี้ นอกจากการถือศีลอดใช้
5. การถือศีลอดข้ามวันคือ เมื่อดวงอาทิตย์ตกแล้ว ไม่ยอมแก้ศีลอด แต่จะมาแก้ศีลอด หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ของวันใหม่
6. การถือศีลอดติดต่อกัน ตลอดทั้งเดือน นอกจากเดือนรอมฎอน หรือการถือศีลอดของสตรี ที่ถือศีลอดซุนนะฮฺ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากสามี ส่วนการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน และการถือศีลอดใช้ ไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากสามี

่ถาม: เอี๊ยะติกาฟคืออะไร?ถาม : เงื่อนไขในการเอี๊ยะติกาฟมีอะไรบ้าง?
ตอบ
1. จำเป็นที่ผู้เอี๊ยะติกาฟ จะต้องอยู่ในมัสยิด ที่ใช้ละหมาดญะมาอะฮฺ
2. ให้ปฏิบัติในสิ่งที่เป็นการอิบาดะฮฺ ต่ออัลลอฮฺ เช่นทำการละหมาด อ่านอัลกุรอาน กล่าว ซิกรุลลอฮฺ
3. อนุญาตให้ผู้ทำการเอี๊ยะติกาฟ ออกมานอกมัสยิดได้ ในเมื่อเกิดความจำเป็น เช่น การทำความสะอาด การหาอาหารมารับประทาน ถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ และการไปเยี่ยมผู้ป่วย
4. อนุญาตให้ไปเยี่ยมผู้ป่วย ถ้าหากว่า เขาได้ตั้งเงื่อนไขไว้ ก่อนการเอี๊ยะติกาฟ
5. อนุญาตให้ผู้ที่อยู่ในครอบครัว หรือผู้อื่น ไปเยี่ยมผู้ที่ทำการเอี๊ยะติกาฟ และพูดคุยกันได้ แต่ต้องไม่ใช้เวลานานเกินควร

ถาม: สิ่งที่ทำให้เสียเอี๊ยะติกาฟได้แก่อะไรบ้าง?
ตอบ
1. การมีเพศสัมพันธ์
2. การออกไปจากมัสยิดโดยไม่มีความจำเป็น
3. เจตนาเลิกเอี๊ยะติกาฟ

ถาม มารยาทในการถือศีลอดมีอะไรบ้าง?
ตอบ มารยาทในการถือศีลอด มี 8 ประการ คือ

1. ต้องรับประทานอาหารสะโฮ๊ร
2. รีบละศีลอดเมื่อได้เวลา
3. ขอพรขณะละศีลอด เช่น กล่าวว่า "อัลลอฮุมมะ ละกะศุมตุ วะอะลาริซกิกะ อัฟฏ็อรตุ" ความว่า "โอ้อัลลอฮฺ ฉันได้ถือศีลอดเพื่อพระองค์ และจากเครื่องยังชีพของพระองค์ท่าน (ประทานมาให้) ฉันได้ละศีลอด"
4. งดเว้นกระทำสิ่งที่ตรงข้าม กับการถือศีลอด เช่น พูดจาหยาบคาย พูดโกหก ฯลฯ
5. ส่งเสริมให้ผู้ถือศีลอดแปรงฟัน โดยไม่แยกว่าเป็นช่วงเช้า หรือช่วงบ่าย
6. ควรเป็นคนใจบุญ เห็นอกเห็นใจคนยากคนจน
7. ส่งเสริมให้ทบทวน และอ่านอัลกุรอานมาก ๆ
8. ตื่นตัวในการทำอิบาดะฮฺในช่วง 10 คืนสุดท้าย ของเดือนรอมฎอน

ถาม สิ่งที่ทำให้เสียศีลอดมีอะไรบ้าง?
ตอบ สิ่งที่ทำให้เสียศีลอดมี 7 ประการ คือ
1. กินและดื่ม โดยเจตนา
2. อาเจียรโดยเจตนา
3. มีเลือดประจำเดือน
4. มีเลือดอันเนื่องจากการคลอดบุตร
5. หลั่งอสุจิโดยเจตนา
6. สูบบุหรี่
7. สิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม

ถาม ใส่ยาตา ทำให้เสียศีลอดไหม?
ตอบ การใส่ยาตา ไม่ทำให้เสียศีลอดแต่ประการใด

ถาม การฉีดยา ทำให้เสียศีลอดไหม?
ตอบ การฉีดยา ไม่ทำให้เสียศีลอดแต่ประการใด ไม่ว่าจะฉีดเข้าเส้นเลือด หรือกล้ามเนื้อก็ตาม แต่ถ้าป่วยถึงกับต้องฉีดยา ศาสนาก็ผ่อนผัน ให้ไม่ต้องถือศีลอดในวันที่ป่วย แต่ต้องถือศีลอดชดใช้ ในเวลาที่หายป่วยแล้ว

ถาม แม่บ้านถามมาว่า เมื่อเราปรุงอาหารในเดือนรอมฎอน เพื่อเตรียมละศีลอด เราจะชิม เพื่อให้รู้รสชาดอาหาร ได้ไหม?
ตอบ การชิมอาหาร โดยใช้ลิ้นแตะให้รู้รส แล้วบ้วนทิ้งไป โดยไม่กลืนเข้าไปในลำคอ ไม่ทำให้เสียศีลอดแต่อย่างใด

ถาม หากคนหนึ่งคันหู จำเป็นจะต้องแคะหู ทำให้เสียศีลอดหรือไม่?
ตอบ การแคะหู ไม่ทำให้เสียศีลอด แต่ประการใด

ถาม คนที่ไม่ถือศีลอด ในเดือนรอมฎอน โดยไม่มีข้อผ่อนผัน ตามหลักศาสนา ศาสนามีข้อชี้ขาด ว่า อย่างไร?
ตอบ การถือศีลอด เป็นหลักการหนึ่ง ของหลักการอิสลาม 5 ประการ คนที่ปฏิบัติตาม เรียกว่า "มุสลิม" ส่วนคนที่ไม่ปฏิบัติตาม โดยปฏิเสธ เรียกตรงกันข้าม คือ "ไม่ได้เป็นมุสลิม" ถ้าไม่ปฏิบัติตาม โดยปล่อยปะละเลย เรียกว่า "คนชั่ว" แต่ไม่ได้ถือศีลอด ตามที่ได้ถามมา ท่านนบีบอก ว่า แม้จะถือศีลอดใช้ เป็นปี ก็ไม่มีผล

ถาม การละหมาดกิยามุรอมฎอน หรือตะรอเวียฮฺนั้น มีภาคผลอย่างไร?
ตอบ ท่านนบี กล่าวว่า ความว่า "ผู้ใดปฏิบัติละหมาดค่ำคืนรอมฎอน (กิยามุรอมฎอน หรือตะรอเวียฮฺ) ด้วยความศรัทธา และหวังผลานิสงค์ จากอัลลอฮฺ เขาจะได้รับการอภัย ในความผิด ที่ได้กระทำมาแล้ว"

ถาม กิยามุรอมฎอน หรือตะรอเวียฮฺนั้น ท่านนบีฯ ละหมาดกี่ร็อกอะฮฺ?
ตอบ ท่านหญิงอาอิชะฮฺ รายงานว่า "แท้จริงท่านนบี ไม่เคยละหมาดเกิน 11 ร็อกอะฮฺ (ตะรอเวียฮฺ 8 และวิตริ 3 รวมเป็น 11 ร็อกอะฮฺ) ไม่ว่าใน หรือนอกเดือนรอมฎอน" ญาบิร รายงานว่า "ท่านนบี ได้ละหมาดกับสาวก 8 ร็อกอะฮฺ และละหมาดวิตริ"

ถาม การละหมาดวิตริ แบบ 3 ร็อกอะฮฺ เห็นบางมัสญิด ทำแบบ 1 สลาม และบางมัสญิด ก็ทำแบบ 2 สลาม แบบไหนถูกซุนนะฮฺกันแน่?
ตอบ ถูกซุนนะฮฺทั้ง 2 แบบ คือ ทั้ง
ก. 1 สลาม โดยละหมาด 3 ร็อกอะฮฺรวด ในร็อกอะฮฺแรก หลังจากอ่านฟาฏิฮะฮฺแล้ว อ่านซับบิฮิสฯ ในร็อกอะฮฺที่สอง อ่านฟาฏิฮะฮฺแล้วอ่านกุลยาอัยฯ ในร็อกอะฮฺที่สาม อ่านฟาฏิฮะฮฺแล้วอ่านกุลฮุวัลลอฮฺฯ นั่งตะชะฮุด เสร็จแล้วให้สลาม
ข. 2 สลาม โดยละหมาด 2 ร็อกอะฮ ฺแล้วนั่งตะชะฮุด แล้วให้สลาม แล้วลุกขึ้นตั๊กบีรละหมาดอีก 1 ร็อกอะฮฺ นั่งตะชะฮุด เสร็จแล้วให้สลาม รวมเป็น 2 ตะชะฮุด 2 สลาม
ถาม ละหมาดวิตรินั้น ที่เห็นส่วนใหญ่ จะทำกันในเดือนรอมฎอน เดือนอื่น ๆ จะละหมาดได้ไหม?
ตอบ ทำได้ตลอดทุกเดือน เวลาละหมาดวิตริ เข้าหลังจากละหมาดอิชาอฺ ไปจนถึงเวลาศุบฮิ

ถาม คืนอัลก้อดรฺ (ลัยละตุลก้อดรฺ) ในปัจจุบันนี้ ยังจะมีอยู่อีกหรือ?
ตอบ จากคำตอบของท่านนบี ที่ตอบคำถามท่านหญิงอาอิชะฮฺ ที่ถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ น่าจะยังคงมีอยู่ เมื่อท่านหญิงถามว่า ถ้าดิฉันพบคืนนั้นแล้ว ดิฉันจะกล่าวอะไรดี ท่านตอบนางว่า ให้กล่าวดังนี้ ความว่า "โอ้อัลลอฮฺ แท้จริงพระองค์ท่าน เป็นผู้ทรงอภัยโทษ ทรงรักการอภัย ขอพระองค์โปรดอภัยโทษ ให้ดิฉันด้วย"

ถาม เดือนรอมฎอน ชัยฏอน (ซาตาน) ถูกล่าม จริงหรือ? เมื่อชัยฏอนถูกล่าม ทำไมคนยังทำชั่วอยู่อีก?
ตอบ ชัยฏอนถูกล่ามนั้น มีระบุอยู่ในหะดีษของท่านนบี ต้องเป็นเรื่องจริง ส่วนจะถูกล่ามอย่างไรนั้น เราไม่ทราบได้ แต่คนชั่วนั้น อัลลอฮฺไม่ได้ล่ามเอาไว้หรอก มันจึงทำชั่วได้ตลอดเวลา แรก ๆ มันก็ถูกชัยฏอนชักจูง พอทำชั่วมาก ๆ เข้า มันล้ำหน้าชัยฏอน ไปเสียอีก

ถาม เดือนรอมฎอน ส่งเสริมให้มีการทบทวนอัลกุรอาน เราจะทบทวน ด้วยการฟังเทปกุรอาน ได้ไหม?
ตอบ จะทบทวนโดยวิธีใดก็ได้ จะอ่าน จะฟังเทปอัลกุรอาน หรือจะศึกษาความหมายไปด้วยก็ได้ แม้กระทั่งไปร่วมละหมาดตะรอเวียฮฺ แล้วฟังอิมามอ่านอัลกุรอาน ก็ถือเป็นการทบทวนไปด้วย

ถาม เรื่องมีอยู่ว่า เกิดมีกรณีที่ว่า (ผู้ถือศีลอดที่เดินทาง โดยเครื่องบิน) เมื่อได้เวลาดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ตามกำหนดเวลาของเมืองที่ผู้ถือศีลอด ได้เดินทางจากมา หรือเมืองที่ผ่านน่านฟ้าเข้ามา โดยที่ดวงอาทิตย์ ยังไม่ลับขอบฟ้า ถามว่าเขาจะละศีลอด ได้หรือไม่ ทั้งที่ดวงอาทิตย์ ยังไม่ลับขอบฟ้า ? ถ้าจะคอยให้ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ศีลอดของวันนี้ ก็อาจจะยาวนานเกินไป จึงเป็นความลำบาก ที่เขาจะคงการถือศีลอดของวันนี้ต่อไป?
ตอบ พระองค์อัลเลาะฮฺทรงตรัส ความว่า "ภายหลังจากนั้น พวกท่านจงถือศีลอดให้สมบูรณ์ จนกระทั่งเข้าเวลากลางคืน" (บทอัล-บากอเราะฮฺโองการที่ 387) และท่านอิม่ามบุคอรี และมุสลิมรายงานว่า "ท่านศาสดาเคยเดินทาง ร่วมกับอัครสาวกของท่าน ในเดือนรอมฎอน ครั้นเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าแล้ว ท่านก็ขอให้ท่านบิล๊าล จัดเตรียมอาหารละ ศีลอด เมื่อท่านบิล๊าล จัดเตรียมอาหารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่านจึงดื่ม และกล่าวพร้อมกับชี้ด้วยพระหัตถ์ของท่าน ความว่า เมื่อดวงอาทิตย์ได้ลับขอบฟ้า จากตรงนี้ และเวลากลางคืน ที่ได้มาถึตรงนี้แท้จริง ผู้ที่กำลังถือศีลอด ได้ละศีลอดแล้ว (หมายถึงอนุมัติ ให้เขาละศีลอดได้) ทั้งอัลกุรอาน และอัลฮาดิษ ได้ชี้ชัดว่า การละศีลอดนั้น จะยังไม่เป็นที่อนุมัติ สำหรับผู้ถือศีลอด นอกจากเมื่อเข้าเวลากลางคืน ซึ่งเวลากลางคืนจะมาถึง เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าแล้ว ถ้าหากว่าผู้ที่กำลังถือศีลอด เดินทางโดยเครื่องบิน และเครื่องกำลังลอยลำ อยู่ในระดับที่มีความสูงมาก ย่อมเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ดวงอาทิตย์จะลับขอบฟ้า จากพื้นดิน ก่อนที่มันจะลับหาย จากสายตาของผู้โดยสาร เครื่องบิน โดยถือตามกฏเกณฑ์โลกกลม ด้วยเหตุนี้ จึงไม่เป็นที่อนุมัติ ให้ผู้ที่กำลังถือศีลอดบนเครื่องบิน ละศีลอด ตราบใดที่ดวงอาทิตย์ยังปรากฏชัดอยู่ เพราะบางทีอาจเกิดกรณีที่ว่าผู้ถือศีลอดจะมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ซึ่งกลางวันจะดูสั้นลง หรือบางทีอาจจะมุ่งไปทางทิศตะวันตก กลางวันจึงดูยาวนานขึ้น เพราะฉนั้น ให้พิจารณาที่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ไม่ว่าจะมุ่งไปทางทิศใด โดยจะไม่พิจารณาตามกำหนดเวลาของโซน ที่ผู้ถือศีลอดผ่านน่านฟ้าเข้ามา และจะไม่พิจารณาตามกำหนดเวลา ของเมืองที่ผู้ถือศีลอด เดินทางจากมา ถ้าหากเกรงว่าจะเกิดความลำบากแก่ผู้ถือศีลอดเนื่องจากเวลากลางวันที่ยาวนาน
ศาสนา อิสลามก็ผ่อนผันให้ละศีลอดได้สำหรับผู้ที่เกิดความลำบาก แต่ถ้าหากว่า ไม่เกิดความยากลำบาก แก่ผู้ถือศีลอด แต่ประการใด และเขาเลือกที่จะถือศีลอดให้ครบวัน เขาจะไม่ละศีลอด จนกว่าดวงอาทิตย์จะลับขอบฟ้า

ถาม การถ่ายเลือด ทำให้เสียศีลอดหรือไม่?
ตอบ คำถามนี้ สามารถตอบได้สองประเด็น ประเด็นแรก เกี่ยวข้องกับผู้ถูกถ่ายเลือด (ผู้ให้) อีกประเด็นหนึ่ง เกี่ยวกับการถ่ายเลือด (ผู้รับ) อนึ่ง ส่วนที่เกี่ยวข้อง กับผู้ถ่ายเลือดออก ในตอนกลางวัน ของเดือนรอมฎอนนั้น เปรียบได้กับการเอาเลือด ออกจากเขาผู้นั้น โดยกระทำ "อัลฟัซดู" (การกรีดเลือด หรือเจาะเลือด จากส่วนที่ไม่ใช่ศรีษะ) หรือเปรียบได้กับ "อัล-ฮิญามะฮฺ" (การกรอกเลือดจากส่วนศรีษะ) ได้กล่าวมาก่อนแล้วว่า นักวิชาการส่วนมากชี้ขาดว่า ไม่เสียศีลอด ด้วยสาเหตุทั้งสองกรณี กล่าวคือการกรีดเลือด หรือเจาะเลือด และการกรอกเลือด เพราะว่าอัล-ฮาดิษ ความว่า " ผู้ที่กรอกเลือด กับผู้ที่ถูกกรอกเลือด เสียศีลอดทั้งคู่" ซึ่งถูกนำมาเป็นข้ออ้าง ของฝ่ายที่กล่าวว่า เสียศีลอดนั้น ไม่ปลอดภัยจากการวิพากวิจารณ์ ถ้าไม่ใช่ในด้านของสายรายงาน ก็ในด้านของความหมาย ที่บ่งชี้ จากหนังสือของท่าน อิม่ามเซากานีย์ เล่มที่ 4 หน้าที่ 212-216 สำหรับกรณี ที่เกี่ยวกับผู้รับการถ่ายเลือด เข้านั้น ถูกให้ข้อชี้ขาดเหมือนกับ การฉีดยา ในเมื่อการถ่ายเลือดเข้า มีจุดประสงค์ เพื่อการรักษาโรค ไม่ใช่เพื่อเป็นอาหารแก่ร่างกาย โดยถูกถ่ายผ่านเข้าทางเส้นเลือด ข้าพเจ้า (เชคอะตียะฮฺซ้อกร์) จึงให้เห็นว่า ไม่เสียศีลอด พร้อมทั้งกล่าวว่า ผู้ป่วยที่ถูกถ่ายเลือดเข้าสู่ร่างกาย ย่อมต้องการอาหารบำรุงกำลัง จึงเป็นสิทธิของเขา ที่จะบริโภคอาหารต่างๆ และจำเป็นสำหรับเขา ต้องชดใช้การถือศีลอดดังกล่าว เมื่อหายจากอาการเจ็บป่วย แล้ว ทรรศนะต่างๆ ของนักวิชาการ ที่ขัดแย้งกัน ในปลีกย่อยของปัญหา ที่เหมือนกันนี้ ถือเป็นความเมตตาขององค์อัลเลาะฮฺ ซึ่งท่านสามารถ จะยึดถือปฏิบัติ ตามสิ่งที่สะดวกกว่า และง่ายกว่าในภาวะที่เกิดมีความจำเป็น

ถาม หญิงมีครรภ์และหญิง ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร มีฮุก่มว่าอย่างไร?
ตอบ ฮุก่มของหญิงมีครรภ์ และหญิงที่ให้นมบุตร คือ ฮุก่มเดียวกับผู้ป่วย คือ ถ้าหากว่าทั้งสอง ไม่สามารถถือศีลอดได้ ศาสนาอนุโลมให้ ไม่ต้องถือศีลอด และต้องชดใช้ เมื่อมีความสามารถ เช่นเดียวกับผู้ป่วย มีนักวิชาการ บางท่านบอกว่า เพียงพอแล้ว ที่ทั้งสองจะทดแทนการถือศีลอด โดยการให้อาหาร แก่คนยากจนทุกวัน ซึ่งเป็นทัศนะที่อ่อน และที่ถูกต้องคือ ทั้องสองจะต้องชดใช้ศีลอด เหมือนกับผู้ป่วย และผู้เดินทาง อัลลอฮฺทรงตรัสความ ว่า "ดังนั้น หากคนหนึ่งคนใดในหมู่สูเจ้า ป่วย หรืออยู่ระหว่างเดินทาง ก็ให้ชดใช้ในวันอื่น" และรายงานจากท่านอนัส อิบนฺมาลิก ท่านรอซู้ล กล่าวความว่า "แท้จริงอัลลอฮฺทรงผ่อนผัน การถือศีลอดและการละหมาดให้แก่ผู้เดินทาง (คือไม่ต้องถือศีลอด และละหมาดย่อได้) และทรงผ่อนผันการถือศีลอด ให้กับ หญิงมีครรภ์ และหญิงที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร" บันทึกโดยนักบันทึกหะดีษทั้งห้า

ถาม การอาเจียน ทำให้เสียศีลอด หรือไม่?
ตอบ หากว่าไม่เจตนาทำให้อาเจียน ไม่ทำให้เสียศีลอด และไม่ต้องชดใช้ ถ้าหากเจตนาทำให้อาเจียน ต้องชดใช้ ท่านนบีกล่าวความว่า "ผู้ใด้ที่อาเจียนเอง ไม่ต้องชดใช้ (ศีลอด) และผู้ที่เจตนาอาเจียน จำเป็นที่จะต้องชดใช้ (ศีลอด)" บันทึกโดยอิมามอะฮฺหมัด และเจ้าของสุนันทั้งสี่ ด้วยสายรายงานที่ถูกต้อง จากหะดีษที่รายงาน โดยอะบูฮุร็อยเราะฮฺ

ถาม การเสียเลือดของผู้ถือศีลอด มีผลต่อการถือศีลอด หรือไม่?
ตอบ การเสียเลือดของผู้ถือศีลอด เช่น เลือดกำเดาออก หรือหญิงมีอิสติฮาเฎาะฮฺ (เลือดเสีย) หรือคล้ายๆ กันนี้ ไม่ทำให้เสียศีลอด ส่วนการเสียเลือด ที่ทำให้เสียศีลอด นั้น คือ เฮด (รอบเดือน) นิฟาส (เลือดหลังคลอดบุตร) และการกรอกเลือด

ถาม บริจาคเลือด ในเดือนรอมฏอน ทำให้เสียศีลอด หรือไม่?
ตอบ การบริจาคเลือดนั้น ผู้บริจาคต้องเสียเลือดมาก ทำให้เสียศีลอด กิยาส (เปรียบเทียบ) กับการกรอกเลือด เพราะการกรอกเลือดนั้น เสียเลือดมาก และทำให้เสียศีลอด แต่ถ้าเพียงเล็กน้อย เช่น เจาะเลือด เพื่อตรวจโรค ไม่ทำให้เสียศีลอดถาม

ถาม ฉันเป็นสาว อายุ 17 แต่ยังไม่เคยถือศีลอดเลย ในเดือนรอมฏอนของสองปีแรก ฉันจะทำอย่างไร?
ตอบ จำเป็นที่จะต้องรีบถือศีลอดชดใช้ และต้องเสียกัฟฟาเราะฮฺชดเชยด้วย โดยการให้อาหารแก่คนยากจนทุกวัน เนื่องจากชดใช้ศีลอดล่าช้า เกินกว่าหนึ่งปี ตามความเห็นส่วนใหญ่ ของนักวิชาการ
ถาม การฉีดยาเข้าเส้นเลือด ทำให้เสียศีลอดหรือไม่?
ตอบ หากว่าการฉีดยานั้นมีผลสร้างความกระปี้กระเปร่า ให้กับผู้ถือศีลอด (ให้น้ำเกลือ) การถือศีลอดของเขาก็ใช้ไม่ได้ ไม่ว่าจะฉีดส่วนไหนของร่างกาย แต่ถ้ามีผล เพื่อระงับ หรือบรรเทาความเจ็บปวด ก็ไม่ทำให้เสียศีลอด

ถาม หากว่ามีคนหนึ่ง ถือศีลอดสุนนะฮฺ (อัยยามุลเบฎ) ทุกเดือนเป็นประจำ คือวันที่ 13-14-15 ตามเดือนจันทรคติ และในเดือนเซาวาล เขาได้ทำการถือศีลอดสุนนะฮฺนี้ ตามปกติ และถือศีลอด นอกเหนือจากสามวันนี้ อีกสามวัน จะถือว่า เขาได้ทำการถือศีลอดสุนนะฮฺ หกวันของเดือนเซาวาล หรือเปล่า?
ตอบ การถือศีลอดหกวัน ในเดือนเซาวาล ไม่เกี่ยวกับการถือศีลอดสุนนะฮฺ (อัยยามุลเบฎ) และจะเอามารวมกันไม่ได้ คือ ให้ถือศีลอด และตั้งเจตนาแยกกันต่างหาก เพื่อเพิ่มพูนผลบุญ แต่ถ้าหากเขาถือศีลอดหกวัน ในเซาวาล แล้วเนียตรวมกันทั้งสอง คือ บวชหกและบวช (อัยยามุลเบฏ) ข้าพเจ้า (เชคซอและฮฺ อิบนฺเฟาซาน อัลเฟาซาน) เห็นว่า จะได้แค่ผลบุญของการถือศีลอดเซาวาล เท่านั้น อินชาอัลลอฮฺ

ถาม หญิงคนหนึ่ง มีความจำเป็น ไม่สามารถถือศีลอดได ้ในเดือนรอมฏอน และได้เสียชีวิต ก่อนที่จะชดใช้ ถามว่าหญิงคนนี้ มีความผิดหรือไม่ ถ้ามีจะไถ่โทษนางอย่างไร?
ตอบ หากว่าไม่ได้ถือศีลอด เนื่องจากความเจ็บป่วย โดยที่ป่วยต่อเนื่องมา จนหมดเดือนรอมฏอน จนกระทั่งเสียชีวิต ทายาทก็ไม่ต้องชดใช้ และไม่ต้องเสียกัฟฟาเราะฮฺชดเชย เพราะว่าเขาไม่สามารถ ที่จะชดเชยได้ แต่ถ้าหากว่าเขาหายจากการป่วยไข้ และมีเวลาเพียงพอ ที่จะถือศีลอดชดใช้ แต่เขายังไม่ได้ชดใช้ จนกระทั่งเสียชีวิตเสียก่อน ก็จำเป็นที่ทายาท จะต้องชดใช้แทนเขา หรือเสียกัฟฟาเราะฮฺ ให้อาหารแก่คนยากจนทุกวัน เช่นเดียวกันหญิงคนนั้น ถ้าสามารถที่จะชดใช้ศีลอดได้ หลังรอมฏอ นและยังไม่ได้ชดใช้ ส่วนถ้านางไม่สามารถ ก็ไม่ต้องชดใช้ และไม่ต้องเสียกัฟฟาเราะฮฺ วัลลอฮุอะอฺลัม

ถาม แปรงฟันโดยใช้ยาสีฟัน ทำให้เสียศีลอดหรือไม่?
ตอบ เชคบินบาซตอบว่า การแปรงฟันโดยใช้ยาสีฟัน ไม่ทำให้เสียศีลอด แต่ต้องระวัง ไม่ให้เข้าไปถึงกระเพาะ ถ้าหากว่า หลุดลงไป โดยไม่ได้ตั้งใจ ก็ไม่จำเป็นต้องชดใช้ และยาหยอดหู หยอดตา ก็เช่นเดียวกัน ไม่ทำให้เสียศีลอด ในทัศนะที่ถูกต้องที่สุด ของนักวิชาการ แต่หากว่า รู้สึกถึงรสขม จากยาหยอดตาหรือหยอดหูได้ ในลำคอ ก็ควรจะชดใช้ศีลอดในวันนั้น เป็นการดีกว่า ซึ่งไม่ใช่วายิบ ที่เขาต้องชดใช้ เพราะทั้งหูและตา ไม่ใช่อวัยวะ ที่เป็นทางผ่าน ของอาหาร และเครื่องดื่ม ส่วนยาหยอดจมูกนั้น ถ้าใช้แล้ว รู้สึกถึงรสขมในลำคอ อันเนื่องมาจากยา ก็จำเป็นที่เขาจะต้องถือศีลอด เพราะจมูก ถือเป็นทางผ่านของอาหาร และเครื่องดืมได้ ด้วยเหตุนี้ ท่านนบีจึงกล่าวความว่า "และจงสูดน้ำเข้าจมูก (ตอนอาบน้ำละหมาด) นอกเสียจากว่า ท่านกำลังถือศีลอด"

ถาม การใช้น้ำยาบ้วนปาก ทำให้เสียศีลอดหรือไม่?
ตอบ การใช้น้ำยาบ้วนปาก ไม่ทำให้เสียศีลอด หากไม่กินหรือกลืนเข้าไป แต่ก็ไม่สมควรใช้ นอกจากจำเป็น
ถาม การถือศีลอด ของคนที่เป็นพยานเท็จ ใช้ได้หรือไม่?
ตอบ การเป็นพยานเท็จ คือ การที่คนหนึ่งคนใด เป็นพยานยืนยัน ในสิ่งที่เขาไม่รู้ หรือรู้ แต่ว่ายืนยันตรงกันข้าม กับที่เขารู้ ถือเป็นบาปใหญ่ แต่ไม่ทำให้การถือศีลอดของเขา เสียไป คือใช้ได้ แต่ว่า ผลบุญของเขาจะลดลง

ถาม อะไรคือการถือศีลอดแบบวิซอล ? เป็นซุนนะฮฺหรือเปล่า ?
ตอบ วิซอล คือ การถือศีลอด สองวันติดต่อกัน ซึ่งท่านนบีได้สั่งห้ามเอาไว้ โดยกล่าวว่า "ผู้ใดที่ต้องการจะถือศีลอดวิซอล ก็ให้ถือแค่เวลาซุโฮร์" การถือศีลอดต่อเนื่อง จนถึงเวลาซุโฮร (โดยไม่ละศีลอดตอนมักริบ) เป็นที่อนุญาต แต่ไม่เป็นที่ส่งเสริม และท่านนบีก็ได้ส่งเสริม ให้รีบละศีลอด เมือ่ได้เวลา ท่านนบีฯ ได้กล่าวว่า "ประชาชาติของฉัน จะยังคงอยู่บนความดี ตราบเท่าทีเขารีบเร่งละศีลอด" แต่ท่านนบีก็อนุญาต ให้ถือติดต่อได้ จนถึงซุโฮรเท่านั้น ครั้นเมื่อมีบรรดาซ่อฮาบะฮฺ กล่าวว่า "โอ้ท่านร่อสู้ลุ้ลลอฮฺ ท่านยังถือติดต่อได้เลย ท่านนบีตอบว่า ฉันไม่เหมือนกับพวกท่าน"

ถาม อะไรคือความหมาย ของหะดีษ ที่ความว่า "ไม่มีการถือศีลอด สำหรับผู้ที่ไม่ได้เนียต (ตั้งเจตนา) ตอนกลางคืน"?
ตอบ การตั้งเจตนาที่จะถือศีลอด นั้น อยู่คู่กับมุสลิมทุกคน ที่รู้ว่าเดือนรอมฏอน เป็นเดือนที่ พระองค์อัลลอฮฺ ทรงบัญญัติ ฟัรดูการถือศีลอดในเดือนนี้ ดังนั้น การที่เขารู้ถึงฟัรดูการถือศีลอด และทำการถือศีลอด ก็เป็นการเพียงพอแล้ว และเพียงแค่การพูดกับตัวเองว่า จะถือศีลอดในวันพรุ่งนี้ หากไม่มีอุปสรรค หรือการรับประทานอาหารซุโฮร ด้วยความตั้งใจแบบนี้ ก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องกล่าวออกมา เป็นคำพูดว่า จะถือศีลอด และอิบาดะฮฺอื่นๆ ก็เช่นเดียว กัน เพราะการเนียตตำแหน่งของมัน คือหัวใจ และจำเป็นต้องให้การเหนียต อยู่ควบคู่กับการปฏิบัติ ตลอดเดือนรอมฏอน โดยจะต้องไม่ตั้งใจจะละศีลอด หรือทำให้เสียศีลอด ในขณะที่กำลังถือศีลอดอยู่

ถาม เด็กจะถือศีลอดอย่างไร ? และจริง (ถูกต้องหรือไม่) ที่ผลบุญ จะได้แก่พ่อแม่ของเด็ก ?
ตอบ จำเป็นที่พ่อแม่ จะต้องฝึกฝนบุตรให้ถือศีลอด หากว่าสามารถที่จะถือได้ ถึงแม้ว่าอายุ จะยังไม่ถึงสิบขวบ ก็ตาม และเมื่อมีอายุถึงสิบขวบแล้ว ผู้เป็นพ่อแม่ จะต้องบังคับลูกให้ถือศีลอด หากว่าเด็กถือศีลอด ก่อนที่จะบรรลุศาสนภาวะ ก็ต้องถือศีลอด เหมือนผู้ใหญ่ทุกประการ ส่วนผลบุญ ก็จะได้แก่เด็ก และพ่อแม่ของเด็กด้วย

ถาม จำเป็นที่จะต้องละศีลอดเมื่อได้ยินเสียงอะซานมักริบ หรืออนุญาตให้ล่าช้าได้ ?
ตอบ มีหะดีษรายงานว่า "แท้ จริงบ่าวที่เป็นทีรักยิ่งของอัลลอฮฺ คือผู้ที่รีบเร่งละศีลอด และประชาชาติอิสลาม จะยังคงอยู่บนความดีตราบเท่าทีเขารีบละศีลอด และให้ล่าช้าในการรับประทานอาหารซุโฮร" และตามซุนนะฮฺ ให้ละศีลอดก่อนที่จะทำการละหมาดมักริบโดยมีข้อแม้ว่า ต้องแน่ใจว่าดวงอาทิตย์ตก แต่ก็อนุญาตให้ล่าช้าได้หากไม่แน่ใจว่า ดวงอาทิตย์ตกหรือยังหรือด้วยสาเหตอื่น เช่น รออาหาร หรือติดงานสำคัญ เป็นต้น วัลลอฮุอะอฺลัม

ถาม หากว่าผู้ถือศีลอด ทั้งที่เดินทาง และไม่ได้เดินทาง เมื่อได้เวลาละศีลอดแล้ว เขาไม่สามารถหาอาหาร หรือเครื่องดื่ม เพื่อละศีลอดได้ ถามว่า เขาจะละศีลอด ด้วยกับเจตนาเพียงอย่างเดียว ได้หรือไม่?
ตอบ การถือศีลอดขณะเดินทางนั้น เป็นที่อนุญาต และประเสริฐกว่า การที่จะไม่ถือศีลอด ถ้าไม่เป็นการลำบาก กับผู้เดินทางเอง แต่ถ้าหากพบความยากลำบาก ที่อาจทำให้เขาต้องพึ่งพาคนอื่น ในงานของเขาเอง การที่เขาไม่ถือศีลอด ในสภาพเช่นนี้ จะประเสริฐกว่าการถือศีลอด นี่ คือ ทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่ เพราะท่านนบีได้ถือศีลอด ในสงครามพิชิตมักกะฮฺ จนกระทั่งมีซอฮาบะฮฺ บอกกับท่านว่า การถือศีลอดทำให้พวกเขา ประสบความยากลำบาก ท่านนบีจึงละศีลอด และใช้ให้พวกเขาละศีลอดด้วย เพื่อเตรียมพร้อม ที่จะเผชิญหน้ากับศัตรู และหากว่าผู้เดินทาง ประสงค์จะละศีลอด ถึงแม้จะไม่มีอุปสรรคก็ตาม ถือว่า เป็นที่อนุญาตการเนียตละศีลอด ถึงแม้จะไม่ไดรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่ม ก็ถือว่าใช้ได้ ส่วนคนที่ได้เวลาละศีลอด แต่หาอาหาร หรือเครื่องดื่ม เพื่อละศีลอด ยังไม่ได้ การเนียตละศีลอด ก็เพียงพอแล้วเช่นกัน จนกระทั่ง เขาหาอาหาร ที่จะละศีลอดได้ แต่ที่ประเสริฐที่สุด คือให้รีบละศีลอด เมื่อได้เวลา ดังหะดีษที่ว่า "ประชาชาติ (ของฉัน) จะยังคงอยู่บนความดี ตราบเท่าที่ พวกเขารีบละศีลอด"

ถาม เด็กผู้หญิงจำเป็นต้องถือศีลอดเมื่อใด?
ตอบ จำเป็นที่เด็กหญิง จะต้องถือศีลอด เมื่อบรรลุศาสนภาวะ และสิ่งที่บ่งบอกว่าบรรลุแล้ว ก็คือ มีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ หรือมีขนขึ้นรอบอวัยวะเพศ หรือ มีอสุจิเคลื่อนออก หรือมีรอบเดือน และหรือการมีครรภ์ ดังนั้น เมื่อใดก็ตาม ที่ปรากฎสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่กล่าวมานี้ ก็จำเป็นจะต้องถือศีลอด ถึงแม้ว่าเด็กหญิงคนนั้น จะมีอายุยังไม่ถึง 10 ขวบก็ตาม มีให้เห็นมากมาย ที่ผู้หญิงมีรอบเดือน เมื่ออายุ 10-11 ขวบ แล้วผู้ปกครองก็ละเลย โดยคิดว่ายังเด็ก จึงไม่บังคับให้ถือศีลอด ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เพราะเมื่อใดก็ตาม ที่ผู้หญิงเริ่มมีรอบเดือน ก็ถือได้ว่าเป็นสาวแล้ว บรรลุศาสนภาวะแล้ว และมลาอิกะฮฺก็เริ่มบันทึกการงาน ของเธอแล้ว วัลลอฮุอะอฺลัม

ถาม ฉันคลอดบุตร ก่อนเข้ารอมฏอน 1 สัปดาห์ และนิฟาส (เลือดหลังการคลอดบุตร) ก็หมดก่อน 40 วัน ฉันจำเป็นต้องถือศีลอด หรือไม่?
ตอบ จำเป็นที่จะต้องถือศีลอด เมื่อผู้ที่คลอดบุตรรู้ว่า ตัวเองสะอาดแล้ว คือหมดนิฟาส ก็จำเป็นที่จะต้องละหมาด หรือถือศีลอด แม้ว่าจะสะอาดหลังการคลอด เพียงวันเดียว หรือ 1 สัปดาห์ เพราะไม่มี กำหนดอย่างน้อยของนิฟาส บางรายไม่มีนิฟาสเลย หลังคลอด และระยะ 40 วัน ก็ไม่ใช่เงื่อนไขตายตัว หากว่ามีนิฟาสเกิน 40 วัน โดยที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง (สีของนิฟาส) ก็ยังถือว่า อยู่ในช่วงนิฟาส ไม่ต้องถือศีลอด ไม่ต้องละหมาด จนกว่าจะสะอาด วัลลอฮุอะอฺลัม
ถาม ผู้ที่ด่าทอขณะที่ถือศีลอด ศาสนามีฮุก่มว่าอย่างไร?
ตอบ การด่าทอขณะที่ถือศีลอด ไม่ทำให้เสียศีลอด แต่ว่าจะทำให้ผลบุญของเขา ลดน้อยลง มุสลิมจะต้องรู้จักควบคุมจิตใจ และลิ้นของเขาต้องงดเว้น จากการด่าทอ นินทา ให้ร้าย และจากสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้าม ซึ่งจะเป็นหตุให้เกิดฟิตนะฮฺ ความเกลียดชัง และความแตกแยก ท่านรอซู้ล (ซ.ล) กล่าวความว่า "เมื่อคนหนึ่งคนใดในหมู่สูเจ้า ถือศีลอด ก็จงอย่าด่าทอให้ร้าย และอย่าส่งเสียงดัง (ด้วยความโกรธ) และหากว่ามีใครด่าทอหรือหาเรื่อง ท่านก็จงกล่าวว่า ข้าพเจ้าถือศีลอด" (บันทึกโดยบุคอรี และมุสลิม)

ถาม มีอุปสรรค ถือศีลอดในเดือนรอมฏอนไม่ได้ ต้องทำอย่างไร ?
ตอบ ผู้ใดที่ละทิ้งการถือศีลอด ในเดือนรอมฏอน โดยมีอุปสรรค ตามที่ศาสนาผ่อนผัน จำเป็นที่จะต้องถือศีลอดชดใช้ ก่อนที่จะถึงรอมฏอนถัดไป ถ้าหากล่าช้า ไม่ได้ชดใช้ จนเลย เดือนรอมฏอนถัดไป โดยไม่มีอุปสรรค ตามที่ศาสนาผ่อนผัน เช่น ชราภาพ หรือป่วยเรื้อรัง จำเป็นที่เขาจะต้องถือศีลอดชดใช้ ตามวันที่ขาดไป และต้องให้อาหาร แก่คนยากจน ทุกวันด้วย แต่ถ้าหากไม่สามารถถือศีลอดได้ เช่น คนชรา หรือผู้ป่วยเรื้อรัง ก็ให้อาหารแก่คนยากจน โดยไม่ต้องถือศีลอดชดใช้ อัลกุรอานกล่าวความว่า "และผู้ที่ไม่สามารถถือศีลอดได้ ก็ให้เสียฟิดยะฮฺให้อาหาร แก่คนยากจน" ส่วนปริมาณที่จะต้องจ่ายออกไป ก็คือจ่ายทุกวัน วันละครึ่งซออฺ เท่ากับ 1 กิโลครึ่ง โดยประมาณ ซึ่งอาจจะเป็น ข้าวสาลี ข้าวเจ้า หรืออาหารหลักของแต่ละประเทศ สำหรับการใช้เงินแทน ให้อาหารนั้น ใช้ไม่ได้ เนื่องจากตัวบทอัลกุรอานได้ชี้ชัดไว้

ถาม มีชายผู้หนึ่ง นอนหลับก่อนที่จะรู้ว่า วันรุ่งขึ้น เป็นวันแรกที่จะต้องถือศีลอด พอตื่นขึ้นละหมาดซุบฮฺ ถามใครก็ไม่มีใครรู้ว่า เข้ารอมฏอนหรือยัง เขาจึงยังไม่รับประทานอาหารอะไร จนไปถึงที่ทำงาน ถึงได้รู้ว่า เข้ารอมฏอนแล้ว เขาจึงอดอาหารจนถึงเย็น ในสภาพเช่นนี้ การถือศีลอดของเขาใช้ได้หรือไม่ หรือว่าจำเป็นที่เขา จะต้องถือศีลอดชดใช้?
ตอบ ผู้ใดก็ตามที่รู้ว่า เข้าเดือนบวชแล้ว ในตอนกลางวัน จำเป็นที่เขาจะต้องงดเว้น จากอาหาร และเครื่องดื่ม นับตั้งแต่เขารู้ จนตะวันตกดิน และให้ถือศีลอดชดใช้ หลังจากรอมฏอน เพราะว่าเขาไม่ได้ตั้งเจตนาถือศีลอด เมื่อตอนกลางคืน มีหลายหะดีษรายงานความหมาย ตรงกันว่า "ไม่ถือว่าเป็นการถือศีลอด (ใช้ไม่ได้) ถ้าไม่ได้เนียตตอนกลางคืน (เฉพาะการถือศีลอด ที่เป็นฟัรดู)"

ถาม เพื่อนที่ทำงานบางคนบอกว่า เขารับประทานอาหารซุโฮรฺ ตั้งแต่ตีหนึ่ง แล้วก็นอน ตื่นตอน 9 โมงเช้า ละหมาดซุบฮฺ แล้วก็ออกไปทำงาน ศาสนามีข้อชี้ขาดว่าอย่างไร?
ตอบ การกระทำเช่นนี้ ไม่เป็นที่อนุญาต เนื่องจากหลายสาเหตุด้วยกัน คือ
- ขัดกับซุนนะฮฺของท่านนบีฯ ที่เขารีบรับประทานอาหารซุโฮรฺ ซุนนะฮฺคือให้ล่าช้า ในการรับประทานซุโฮรฺ
- นอนจนเลยเวลาละหมาดซุบฮฺ และทิ้งการละหมาดญะมาอะฮฺ ซึ่งเป็นการทิ้งหน้าที่ที่สำคัญ ถึงสองอย่าง คือละเลยการละหมาด ตามเวลา และการละหมาดญะมาอะฮฺ ดังนั้น จำเป็นที่เขาจะต้องเตาบัตตัว และเปลี่ยนการกระทำเสียใหม่ ให้ถูกต้อง คือจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับละหมาด ก่อนอื่น เพราะละหมาด คือเสาหลัก และ เป็นรุก่นที่สอง ของรุก่นอิสลามทั้งห้าประการ และยิ่งกว่านั้น ก็คือการถือศีลอด หรือการงานอื่นใด จะใช้ไม่ได้ (ไม่ถูกต้อง) นอกเสียจากว่า จะต้องมีการละหมาด ตามที่ศาสนาบัญญัติ อย่างถูกต้อง

ถาม ข้าพเจ้าใส่น้ำหอม ก่อนละหมาดซุฮรฺ ในเดือนรอมฏอน เมื่อไปถึงมัสยิด อิมามได้บอกว่า น้ำหอมทำให้เสียศีลอด และข้าพเจ้าเอง ก็อาจเป็นเหตุให้คนอื่นๆ เสียศีลอดด้วย เพราะกลิ่นน้ำหอมแรงมาก คำกล่าวนี้ถูกต้องหรือไม่?
ตอบ การใช้น้ำหอม ขณะที่ถือศีลอด ไม่ทำให้เสียศีลอด แต่ถ้าหากว่า เครื่องหอมนั้นคือบุคูร (ของหอมชนิดหนึ่ง ใช้โรยบนถ่านไฟ เพื่อให้เกิดกลิ่นหอม และมีควันด้วย เปรียบได้กับธูปหอม) แล้วเราไปสูดกลิ่นหอมนั้น โดยตั้งใจ เพราะว่าควันของมัน จะเข้าจมูก และไปกระตุ้นสมอง ซึ่งมีผลต่อการถือศีลอด ส่วนการใช้เครื่องหอมทั่วไป ไม่เป็นไร และไม่อนุญาตให้อิมาม หรือใคร ฟัตวาโดยที่ไม่รู้

ถาม ช่วงเดือนรอมฏอน ที่มัสยิดฮะรอม อิบาดะฮฺอันใดประเสริฐกว่ากัน ระหว่างละหมาดสุนนะฮฺ ตอวาฟ และอ่านกุรอาน?
ตอบ ถ้าไม่ใช่ผู้ที่พักพิงในมักกะฮฺ ก็ควรจะตอวาฟ เพราะว่าไม่ค่อยได้มีโอกาส เหมือนผู้ที่พักพิงทีมักกะฮฺ ส่วนชาวมักกะฮฺ ที่ดีที่สุด คือละหมาด และอ่านกุรอาน และหากว่าผู้ที่มาเยือนกะอฺบะฮฺ ไม่สามารถจะตอวาฟได้ เนื่องจากคนแน่น หรือว่า มีสตรีทำการตอวาฟอยู่มาก และกลัวว่าจะเกิดฟิตนะฮฺ ในสภาพนี้ การละหมาดสุนนะฮฺดีกว่า อนึ่งในขณะตอวาฟนั้น ก็สามารถจะอ่านกุรอาน และดุอาได้ด้วยเช่นกัน เท่ากับว่า ได้รับผลบุญสองเท่า

ถาม การถือศีลอด ตามหลักศาสนา หมายความว่าอย่างไร?
ตอบ การงดกิน งดดื่ม งดการมีเพศสัมพันธ์ ตั้งแต่แสงอรุณทอแสง ไปจนถึงดวงอาทิตย์ตก

ถาม เป้าหมายของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน มีอะไรบ้าง?
ตอบ เป้าหมายของการถือศีลอด พอจะประมาณได้มีอยู่ 3 ประการ
1. เพื่อให้เกิดความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ
2. เพื่อให้เกิดสุขภาพดี
3. เพื่อได้รู้ถึงสภาพคนยากจน และเกิดความสงสารเห็นอกเห็นใจ

ถาม เดือนรอมฎอน มีความประเสริฐอย่างไร?
ตอบ ความประเสริฐของเดือนรอมฎอน คือ
1. กลางวันมีบัญญัติให้ถือศีลอด
2. กลางคืนส่งเสริมให้ละหมาด เช่น ละหมาดตะรอเวียฮฺ
3. ในเดือนนี้ มีอยู่คืนหนึ่ง คือ อัลก้อดรฺ ซึ่งดีกว่าพันเดือน
4. ผู้ที่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ด้วยความศรัทธา จะได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺ

ถาม เราจะเริ่มถือศีลอดเดือนรอมฎอน เมื่อไร?
ตอบ เราจะเริ่มถือศีลอดเดือนรอมฎอน เมื่อเห็นเดือนเสี้ยว เริ่มเข้าเดือนรอมฎอน เพราะท่านนบี ได้กล่าวว่า "ท่านทั้งหลาย จงถือศีลอด เมื่อเห็นเดือนเสี้ยว (เริ่มเดือนรอมฎอน) และจงออกศีลอด เมื่อเห็นเดือนเสี้ยว (ต้นเดือนเชาวาล)"

ถาม การเห็นเดือนเสี้ยวนั้น จะเห็นที่ไหนก็ได้ ถ้าเราได้ทราบข่าวการเห็นนั้น ใครบ้างที่จำเป็นต้องถือศีลอด?
ตอบ ผู้ที่จำเป็นต้องถือศีลอด คือ
1. เป็นมุสลิม
2. มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์
3. บรรลุศาสนภาวะ
4. มีสุขภาพดี
5. ไม่เดินทาง
6. สตรีที่ไม่มีรอบเดือน
7. ไม่มีเลือดนิฟาส (เลือดหลังจากคลอดบุตร)

ถาม หลักสำคัญในการถือศีลอดมีอะไรบ้าง?
ตอบ หลักสำคัญในการถือศีลอด มี 2 ประการ คือ
1. มีเจตนา (เหนียต)
2. งดกิน งดดื่ม งดการมีเพศสัมพันธ์ ตั้งแต่อรุณทอแสง ไปจนถึงดวงอาทิตย์ตก

ถาม การตั้งเจตนานั้น ต้องกล่าวออกมาเป็นคำพูดหรือไม่?
ตอบ การตั้งเจตนานั้น ไม่ต้องกล่าวออกมา เป็นคำพูดเลย มันเป็นเรื่องของจิตใจ โดยเฉพาะ และการที่เราลุกขึ้นมารับประทานอาหารสะโฮ๊ร ในค่ำคืนของเดือนรอมฎอน ก็ถือว่ามีเจตนาแล้ว ถ้าไม่มีเจตนา คงไม่ลุกขึ้นมารับประทานอาหาร

ถาม ใครบ้างที่ได้รับการผ่อนผันให้ไม่ต้องถือศีลอด?
ตอบ คนชรา คนป่วย คนเดินทาง หญิงที่มีรอบเดือน หญิงที่มีครรภ์ หญิงที่ให้นมลูก และหญิงที่คลอดบุตร

ถาม ใครบ้างที่ได้รับการผ่อนผัน ให้ไม่ต้องถือศีลอด แต่ต้องเสียฟิดยะฮฺ (ค่าชดเชย)?
ตอบ ผู้ที่ได้รับการผ่อนผัน แต่ต้องเสียฟิดยะฮฺ คือ
1. คนชรา
2. คนป่วยเรื้อรัง
3. คนทำงานหนักตลอดปี ซึ่งไม่มีทางเลือกอย่างอื่น
4. หญิงที่มีครรภ์ หรือให้นมลูก บุคคล เหล่านี้จะต้องจ่ายฟิดยะฮฺ (ค่าชดเชย) คือให้อาหารหลัก แก่คนยากจน เช่น ข้าวสาร วันละ 1 ลิตรต่อวัน

ถาม ใครบ้างที่ได้รับการผ่อนผัน แต่ต้องถือศีลอดชดใช้ ในภายหลัง?
ตอบ ผู้ที่ได้รับการผ่อนผัน คือ 1. คนป่วย 2. คนเดินทาง

ที่มา http://www.muslimthai.com