บทความวิชาการ
หน้าแรก   /   บทความวิชาการ  /   อิสลามศึกษาแบบเข้ม วิชาสามัญควบคู่ศาสนา : รูปแบบที่ชุมชนต้องการ


 


อิสลามศึกษาแบบเข้ม วิชาสามัญควบคู่ศาสนา : รูปแบบที่ชุมชนต้องการ

การจัดการศึกษาจำเป็นต้องหล่อหลอมให้เด็กและเยาวชนเติบโตมาพร้อมกับความรู้และคุณธรรมเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข ศาสนาจึงเป็นวิชา/สาระหนึ่งที่กำหนดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของชาติมาโดยตลอด

วิถีชีวิตของพี่น้องมุสลิมนั้นการศึกษาด้านศาสนาเป็นสิ่งสำคัญและถือเป็นหน้าที่ของผู้นับถือศาสนาอิสลามทุกคนจะต้องเรียนรู้เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ และอิสลามเป็นศาสนาที่ส่งเสริมและกระตุ้นเตือนให้มุสลิมศึกษาหาความรู้ทุกด้านอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้แยกแยะความรู้ทางโลกและทางธรรมออกจากกัน แต่ต้องศึกษาหาความรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตอย่างสมดุลตลอดชีวิต มุ่งหวังให้ทุกคนอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างสันติ

ในอดีตพี่น้องมุสลิมได้เรียนรู้ศาสนาอิสลามจากโต๊ะครู จากมัสญิด จากปอเนาะ หรือจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเท่านั้น ต่อมามีการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาในโรงเรียนของรัฐมากว่า 30 ปี โดยเฉพาะสถานศึกษาในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชากรส่วนใหญ่ นับถือศาสนาอิสลาม

จากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กำหนดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ศาสนาที่ตนนับถือ จึงเป็นหน้าที่ของสถานศึกษาที่ต้องจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาให้กับผู้เรียนที่นับถือศาสนาอิสลาม หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 จึงกำหนดสาระศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม ไว้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมตามกรอบโครงสร้างหลักสูตร ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้ศาสนาเพียงเพื่อเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตเท่านั้น

การจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาตามหลักสูตรดังกล่าว จึงเกิดกระแสสังคมจากบางพื้นที่โดยเฉพาะในพื้นที่ในแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ระบุว่า ยังไม่เพียงพอและยังไม่สนองตอบความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง กระทรวงศึกษาธิการจึงมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้สถานศึกษาจัดการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลาย สอดคล้องกับอัตลักษณ์และความต้องการของชุมชนที่ผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานได้เรียนรู้วิชาสามัญควบคู่กับวิชาศาสนาอิสลามที่เข้มขึ้น และได้ประกาศใช้หลักสูตรอิสลามศึกษา ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 หรือหลักสูตรอิสลามศึกษาแบบเข้ม โดยเริ่มใช้ในสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนวิชาสามัญควบคู่ศาสนา ในปีการศึกษา 2553 จำนวน 350 โรง ในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา (เขต 3) และสตูล

จุดหมายสำคัญของหลักสูตรอิสลามศึกษาแบบเข้ม คือ มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนมีความศรัทธาต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลา และปฏิบัติตนตามแบบอย่างของนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตลอดจนมีคุณธรรม จริยธรรมอิสลาม มีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะในการอ่านอัล-กุรฺอาน และสามารถนำหลักคำสอนไปใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้ มีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ มีเหตุผลในการวินิจฉัย พิจารณาปัญหาต่าง ๆ โดยยึดหลักการอิสลาม และมีความภาคภูมิใจในความเป็นมุสลิมที่ดี มีระเบียบวินัย มีความซื่อสัตย์ สุจริต อดทน เสียสละเพื่อส่วนรวม เห็นคุณค่าของตนเอง สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนมนุษย์ให้อยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความสันติสุข

หลักสูตรดังกล่าวมุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะสำคัญนอกจากต้องมีความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการคิด ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการใช้ทักษะ ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ตามหลักสูตรแกนกลางแล้ว ที่สำคัญผู้เรียนจะต้องมีความสามารถในการอ่านอัล-กุรฺอานด้วย

ส่วนคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข ในฐานะเป็นพลเมืองไทยและพลโลก นอกจากรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซื่อสัตย์สุจริต มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง มุ่งมั่นในการทำงาน รักความเป็นไทย และมีจิตสาธารณะแล้ว ผู้เรียนหลักสูตรอิสลามศึกษาแบบเข้มยังต้องเกิดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่สำคัญ คือ ต้องรักการอ่านอัล-กุรฺอาน รักการละหมาด รักความสะอาด มีมารยาทแบบอิสลาม และมีความรับผิดชอบ

หลักสูตรอิสลามศึกษามีการกำหนดตัวชี้วัดคุณภาพของผู้เรียนด้านต่าง ๆ ไว้ในแต่ละสาระประกอบด้วย สาระอัล-กุรฺอาน สาระอัล-หะดีษ สาระอัล-อะกีดะฮฺ (หลักศรัทธา) สาระอัล-ฟิกฮฺ (ศาสนบัญญัติ) สาระอัต-ตารีค (ศาสนประวัติ) สาระอัล-อัคลาก (จริยธรรม) สาระภาษาอาหรับ และสาระภาษามลายู/ภาษาอาหรับเสริม เพื่อใช้เป็นเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนและตรวจสอบคุณภาพการศึกษาในแต่ละระดับการศึกษา ทั้งด้านองค์ความรู้ ทักษะหรือกระบวนการเรียนรู้ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ คุณธรรม จริยธรรมของผู้เรียน

ขณะนี้มีสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานประสงค์จะจัดการเรียนการสอนโดยใช้หลักสูตรอิสลามศึกษาแบบเข้มอยู่เป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องกำหนดเกณฑ์ ในการพิจารณาสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการ โดยคำนึงถึงความพร้อมด้านทรัพยากร แหล่งการเรียนรู้ การมีส่วนร่วมของชุมชน และที่สำคัญคือต้องเป็นความต้องการของผู้เรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ในแต่ละท้องถิ่นอย่างแท้จริง

เมื่อผู้เรียนจบหลักสูตรจะได้รับวุฒิการศึกษาทั้งด้านวิชาสามัญและศาสนา คือ จบระดับประถมศึกษาปีที่ 6 จะได้รับวุฒิอิสลามศึกษาตอนต้น (อิบติดาอียะฮฺ) จบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะได้รับวุฒิอิสลามศึกษาตอนกลาง (มุตะวัสสิเฏาะฮฺ) และจบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะได้รับวุฒิอิสลามศึกษาตอนปลาย (ษานะวียะฮฺ)

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลักสูตรอิสลามศึกษา ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 จะมีส่วนส่งเสริมให้ทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม โดยเปิดโอกาสให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของชุมชน ร่วมพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพและมาตรฐานตามที่สังคมคาดหวัง มีความสมดุลทั้งด้านความรู้ คุณธรรม มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและพลโลกที่ดี สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างสันติสุข

ขอบคุณบทความดีดีจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์